xs
xsm
sm
md
lg

ครช.ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาล รธน.สอบรัฐบังคับเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเผด็จการ เพิกเฉย ปชช.ร่วมจัดการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครช. ยื่นหนังสือผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปม นายกฯ-รมว.พลังงาน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง บังคับประชาชนเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเผด็จการ เพิกเฉย ปชช.-ชุมชน มีส่วนร่วมจัดการผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน ขัด กม.หรือไม่

วันนี้ (19 พ.ย.) นายพลภาขุน เศรฐญาบดี ตัวแทนผู้ประสานงานคณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.), คณะกรรมการ กพช., คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน, กรมธุรกิจพลังงาน และอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน รวม 6 ราย ว่า ร่วมกันกระทำการจัดการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายพลภาขุน กล่าวว่า ทั้ง 6 ราย ได้ร่วมกันบริหารจัดการจนนำไปสู่การเสนอเรื่องยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนด้านพลังงานเชื้อพลัง จนนำมาซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนผสมที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวมวลที่ปัจจุบัน b100 ราคา 47 บาทต่อลิตร เอทานอล 25 บาทต่อลิตร มาผสมในสภาพบังคับ ส่งผลให้มีราคาสูงมากจนนำมาสู่ก๊าซแอลพีจีที่มีราคาตั้งต้นแพงมหาศาลถึง 29.95 บาทต่อกิโลกรัม ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยถึงกิโลกรัมละ 17.97 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งๆ ที่ก๊าซจากโรงแยกก๊าซมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนทั้งหุงต้ม และสถานีบริการที่ราคากิโลกรัมละ 11 บาท ซึ่งมีกำไรที่สมเหตุผลแล้ว โดยไม่นำประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่ทำหน้าที่รัฐตามหมวด 5 ไม่นำโควตาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซที่มาจากแหล่งทรัพยากรในประเทศมาจัดโครงสร้างให้กับประชาชนใช้ในราคาตั้งต้น ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

นอกจากนี้ ยังเพิกเฉยต่อข้อเสนอที่ผู้ร้องมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43(3) ทำให้กองทุนน้ำมันที่เป็นเงินของประชาชนถังแตก เป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน และภาระของประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน เอื้อให้กลุ่มทุนได้รับผลประโยชน์มหาศาล เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ผู้ถูกร้องในฐานะประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต้องทุกข์ทนจากค่าน้ำมัน และก๊าซที่แพง ไม่เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง และตามหลักวิชาการของด้านเทคนิคเครื่องยนต์ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกเหมาะสม บังคับให้ประชาชนทั้งประเทศต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเผด็จการ ที่เป็นเหตุหลักให้ประชาชนต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จนมีหนี้ครัวเรือนสูงสุดเพิ่มขึ้นทุกปี เข้าขั้นจะล้มละลาย ไม่ใช้อำนาจที่ตนมีเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เพื่อความผาสุกของประชาชนโดยรวม ละเมิดสิทธิรัฐธรรมนูญมาตรา 43, 57 และ 58 คุ้มครองไว้ และยังขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3, 53, 56, 75, 77 และ 78

นายพลภาขุน ยังกล่าวอีกว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 6 ราย กระทำการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการเสนอเรื่องยัง ครม. โดยจัดให้การประมูลแหล่งปิโตรเลียมทรัพยากรธรรมชาติแปลงใหญ่ที่สุดของประเทศแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช จนนำไปสู่การลงนามสัมปทานให้ผู้อื่นได้ไปซึ่งสิทธิผูกขาด โดยตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ และได้มา ซึ่งประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ที่เป็นแหล่งรายได้มหาศาลนับหลายล้านล้านบาท ซึ่งประชาชนทั้งประเทศจะพึงได้รับ และมีส่วนร่วมรับประโยชน์ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 43, 57, 58 และ 61 คุ้มครองไว้ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีการกระทำที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 178 โดยไม่นำสัญญาเข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้ความพิจารณาเห็นชอบก่อน

สำหรับนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการ กพช. ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่มีการแต่งตั้งตัวแทนของประชาชน และชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ แต่กลับเพิกเฉยไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้า ครม. หรือใช้อำนาจที่ตนเองมีในฐานะนายกรัมนตรี แต่งตั้งให้ผู้ร้อง หรือตัวแทนของประชาชน และชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้ เสนอชี้แจง เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิให้ประชาชน และชุมชนไว้แต่อย่างใด แต่มีเจตนากีดกัน รวมถึงส่งผลให้ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อน ซึ่งรัฐบาลระบุว่า มติ ครม.ล่าสุด อนุมัติกองทุนน้ำมันกู้เงิน 2 หมื่นล้าน มาใช้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเนินช้าเกิน 60 วัน จะก่อความเสียหายเกินเยียวยา ในขณะที่หนี้สาธารณะของประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 57(2) ที่กำหนดว่า รัฐต้องจัดการให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมจัดการและรับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมา ผู้ถืออำนาจรัฐตัดขาดโดยสิ้นเชิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 58 การที่ใดที่รัฐจะกระทำหรือให้ผู้ใดกระทำหากสร้างความเดือดร้อน หรือสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียต้องสอบถามความเห็นก่อน ขณะที่การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการออกประกาศกระทรวง หรือ พ.ร.บ.ใดๆ กลับยัดเยียดเอาพลังงานชีวมวล 47 บาทต่อลิตร ซึ่งไม่ปรากฏว่าผ่านความเห็นชอบจากประชาชนแต่อย่างใด ขณะที่น้ำมันเป็นสินค้าบังคับซื้อที่ทุกคนต้องใช้ แต่รัฐในฐานะหน่วยงานของรัฐกระทำการเผด็จการไม่ได้เปิดรับความคิดเห็นจากประชาชนแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงยื่นเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องทั้ง 6 ราย กระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นการเร่งด่วน






กำลังโหลดความคิดเห็น