ครม. เห็นชอบหลักการไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด 3 เมกะอีเวนต์ หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรับนักท่องเที่ยวผลักดันการเติบโต สร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ต่อยอดนวัตกรรมประเทศระยะยาว
วันนี้ (16 พ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่จ.กระบี่ วันที่ 16 พ.ย. 64 ได้เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการงานเมกะอีเวนต์ รวม 3 รายการ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(TCEP) เสนอ ประกอบด้วย งาน Expo2028 Phuket-Thailand ในปี 2571 และมหกรรมพืชสวนโลก 2 งาน ได้แก่ มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี (ระดับ B) ในปี 2569 และพืชสวนโลกนครราชสีมา (ระดับ A1) ในปี 2572
โดยการเป็นเจ้าภาพการจัดงานเมกะอีเวนต์ดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เพื่อรองรับนักเดินทางจากทั่วโลก สร้างการจ้างงานผลักดันการเติบโตของจีดีพี พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านนวัตกรรมการเกษตร การแพทย์ ภาคบริการและภาคท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาหลังการจัดงานให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในระยะยาว ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพเมกะอีเวนต์ทั้ง 3 งาน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า จะสามารถสร้างเงินสะพัดในประเทศไทยรวม 100,173 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตให้จีดีพีได้ 68,520 ล้านบาท สร้างรายรับภาษีให้ภาครัฐ 20,641 ล้านบาท และ สร้างการจ้างงาน 230,442 คน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo2028-Phuket, Thailand มีเป้าหมายเพื่อผลักดันบทบาทของประเทศไทยและภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการให้บริการสาธารณสุขในอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ หากไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ คาดว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน 4.93 ล้านคน เป็นชาวไทย ร้อยละ 54 และต่างชาติ ร้อยละ 46 สร้างเงินสะพัด 49,231 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตของจีดีพีได้ 39,357 ล้านบาท เกิดรายรับภาษีภาครัฐ 9,512 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 113,439 คน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อุดรธานี ในปี 2569 จะเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีพืชสวนระดับชาติและนานาชาติ ส่งผลให้เกิดการต่อยอดด้านนวัตกรรมการเกษตร การวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) ผลักดันจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรใน GMS และต่อยอดสู่เศรษฐกิจ BCG Model หากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ คาดว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน 3.6 ล้านคน เป็นชาวไทย ร้อยละ 70 และต่างชาติ ร้อยละ 30 สร้างเงินสะพัด 32,000 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตของจีดีพี 20,000 ล้านบาท เกิดรายรับภาษีภาครัฐ 7,700 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 81,000 คน ระยะเวลา 134 วัน ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2569 - 14 มี.ค. 2570 สถานที่จัดงานคือ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่รวม 1,030 ไร่
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก นครราชสีมา ในปี 2572 นอกจากจะเพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านพืชพันธุ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการผลิตพืชสวนแบบครบวงจรของไทย และเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ข้อมูลข่าวสารด้านพืชสวนและการเกษตรกับนานาประเทศแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การกระจายความเจริญและโอกาสที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ต่อไป
หากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ คาดว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน 2.6-4 ล้านคน เป็นชาวไทย ร้อยละ 85 และต่างชาติ ร้อยละ 15 สร้างเงินสะพัด 18,942 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตของจีดีพีได้ 9,163 ล้านบาท เกิดรายรับภาษีภาครัฐ 3,429 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 36,003 คน ระยะเวลาจัดงาน 110 วัน ระหว่างวันที่ 10 พ.ย. 2572 - 28 ก.พ. 2573 สถานที่จัดงาน พื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 678 ไร่