ทีเส็บ เตรียมพร้อมยื่นประมูลสิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ หรือ Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยรอมติจากที่ประชุมครม.สัญจร จังหวัดกระบี่ เห็นชอบก่อนยื่นเอกสารประมูลสิทธิ์ภายในวันที่ 14 ม.ค.2565 หวังผลักดันภูเก็ตรับเมกกะอีเวนต์ระดับโลก ประเมินหากไทยได้จัดจะช่วยสร้างเงินสะพัดมากถึง 4.9 หมื่นล้านบาท โดยมีนักเดินทางไมซ์ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าชมกว่า 4.9 ล้านคน
วันนี้ (13 พ.ย.) นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการรองรับการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากทั่วโลก ล่าสุดทางจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดกระบี่ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิ์เพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo 2028) ที่จังหวัดภูเก็ต ในปี พ.ศ.2571 โดยทีเส็บ จะรับหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการประมูลสิทธิ์การจัดงานนี้ให้กับประเทศไทย
สำหรับการจัดงาน Specialised Expo 2028 ถือเป็นการจัดงานมหกรรมโลกที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากการจัด World Expo โดยมีระยะเวลาการจัดงานนาน 3 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้แจ้งความประสงค์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานนี้ภายใต้ธีมทางด้านสุขภาพ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน 2571 โดยใช้พื้นที่รวม 141 ไร่ บริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่การยื่นประมูลสิทธิ์ครั้งนี้ประเทศไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในช่วงเวลาเดียวกัน คือ สหรัฐอเมริกา (มลรัฐมินนิโซตา - Minnesota) และ สเปน (เมืองมาลากา - Malaga)
ทั้งนี้ในขั้นตอนการดำเนินงาน ภายหลังจากผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีเส็บ ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยจะยื่นเอกสารประมูลสิทธิ์ต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau of International Expositions : BIE) ซึ่งเป็นองค์กรเจ้าของสิทธิ์การจัดงาน ภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 เพื่อพิจารณารายละเอียดการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน ก่อนจะประกาศรายชื่อประเทศที่จะได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานต่อไป
นายจิรุตถ์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการจัดงาน Specialised Expo 2028 มีด้วยกันหลายด้าน โดยในด้านสาธารณสุข จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์เชิงการแพทย์ระดับโลก รวมทั้งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางนวัตกรรมในอนาคต เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พร้อมทั้งช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศได้มากขึ้น ส่วนในด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังช่วยกระจายรายได้ ส่งเสริมการจ้างงาน และทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ขณะเดียวกันประโยชน์ที่จังหวัดภูเก็ตและประชาชนในพื้นที่จะได้รับนั้น เชื่อว่า จะช่วยให้เกิดชุมชนการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ เกิดศูนย์บริบาลผู้สูงอายุและศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่มีความทันสมัย ส่วนด้านท่องเที่ยว นอกจากช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงการแพทย์แล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) อีกด้วย และยังส่งผลกระโยชน์ต่อไปถึงด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม จากการพัฒนาระบบกำจัดขยะที่ได้มาตรฐานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอีกเช่นเดียวกัน
ส่วนการเตรียมความพร้อมของจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งการมีสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง คือ สนามบินภูเก็ต กระบี่ และสุราษฏร์ธานี ส่วนโรงแรมที่พักมีด้วยกันทั้งหมด 154,155 ห้อง แบ่งเป็น ภูเก็ต 72,860 ห้อง สุราษฎร์ธานี 49,483 ห้อง กระบี่ 25,793 ห้อง และพังงา 6,019 ห้อง ขณะที่สถานบริการสุขภาพในจังหวัดภูเก็ต มีสปาเพื่อสุขภาพ 150 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 440 แห่ง สถานพยาบาล 458 แห่ง (โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข และหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ PCU)
ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวทิ้งท้ายว่า งาน Specialised Expo 2028 ครั้งนี้ ทีเส็บได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจว่า ด้วยเงินลงทุนจากภาครัฐที่ใช้ในการดำเนินโครงการจำนวน 4,180 ล้านบาท จะสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนกลับมามากถึง 9 เท่า โดยคาดการณ์ว่า จะมีเงินสะพัดในช่วงระหว่างการจัดงานมากถึง 49,231 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าชมการจัดงานทั้งไทยและต่างประเทศรวม 4.9 ล้านคน เพิ่มตัวเลข GDP จำนวน 39,357 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสามารถจ้างงานได้มากถึง 113,439 ตำแหน่งอีกด้วย