เมืองไทย 360 องศา
หากบอกว่า สถานะของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงรัฐบาลผสมภายใต้การนำของเขาเวลานี้เหมือนกับเดินอยู่บน “เส้นด้าย” ก็อาจมองแบบนั้นได้ เพราะอาจร่วงหล่น ขาดผึงได้ทุกนาที แม้ว่าหากพิจารณาในภาพรวมอาจดูเหมือนว่ายังมั่นคง พรรคร่วมรัฐบาลยังสามัคคีรักใคร่กันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีปัญหาความขัดแย้งข้ามพรรคในลักษณะรุนแรงออกมาให้เห็น
ตรงกันข้ามภาพที่แสดงออกมายังเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยเสียอีก ได้เห็นการแยกย้ายกันเดินสายไปตรวจราชการและเยี่ยมเยียนชาวบ้านตามจังหวัดกระจายไปทุกภาคของบรรดารัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่แต่ละพรรคการเมืองต่างกำลังบริหารงบประมาณ เพื่อสร้างผลงานกันอย่างราบรื่น จึงไม่น่าจะต้องกังวลอะไรนัก
ภาพที่ออกมาทำให้หลายคนมองแบบนั้น ซึ่งอาจจะใช่ เพราะยังไม่มีเหตุความขัดแย้งรุนแรงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่จะนำไปสู่การลาออก หรือยุบสภาในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะที่ผ่านมายังมั่นใจว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม นั่นคือ หากมีการเลือกตั้งตามวาระก็ต้องเกิดขึ้นในปี 2566 โน่นแหละ
อย่างไรก็ดี ในภาพภายใต้ความสามัคคีดังกล่าว กลับซ่อนความขัดแย้ง และความ “ไร้เอกภาพ” บางอย่างทับซ้อนอยู่ และที่ผ่านมาก็มักออกอาการให้เห็น แม้ว่าจะพยายามปิดบังแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังสังเกตเห็นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะ “รอยปริแยก” ที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลนั่นเอง และนำมาสู่คำถามถึงความเป็นเอกภาพของ “พี่น้องสาม ป.” ว่ายังเหมือนเดิมเต็มร้อยอยู่หรือไม่
ดังนั้น คำถามและข้อสงสัยน่าจะพุ่งตรงไปที่พรรคพลังประชารัฐมากที่สุด และแม้ว่าล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะย้ำว่า ไม่มีปัญหาอะไร รวมไปถึงการพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค แต่ก็ได้ทิ้งท้ายให้คิดตามมาเป็นปริศนาว่า “ไม่มีปัญหา หากไม่มีใครยุแยง” ซึ่งทำให้น่าคิดว่า “ใครคือตัวปัญหา” ที่คอยยุแยงให้เกิดความแตกแยกขัดแย้ง และ “ใครคือคนที่ถูกยุแยง” ดังกล่าว ตามที่นายกฯ ได้เอ่ยถึง
แต่ที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ “วิป” คนใหม่มาเป็น นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ตามรายงานระบุว่า เป็นคนที่ไว้ใจได้ แม้อาจจะไม่ใช่สายตรง แต่ก็ถือว่าไม่ใช่สังกัดกลุ่มก๊วนไหนชัดเจน ซึ่งตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญไม่น้อยสำหรับการควบคุมเสียงของฝ่ายรัฐบาล และก็เสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีหลายกลุ่มก๊วนซ้อนกันอยู่ภายใน
ที่บอกว่าเป็นหัวใจสำคัญเพราะในท่ามกลางที่ยังไม่ชัวร์แบบเต็มร้อยกับปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ต้องลุ้นกับร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ต้องพิจารณาผ่านความเห็นชอบในสภาในสมัยประชุมนี้ หากไม่ผ่านจะด้วย “อุบัติเหตุ” หรือ “จงใจ” ให้เกิดอุบัติเหตุ มันก็จบเห่ทันที ซึ่งมีทางเลือกแค่สองทางคือ ไม่ยุบสภาก็ต้องลาออก แต่น่าจะออกทางแรกมากกว่าหากเกิดอะไรขึ้นมา
ด้วยความสำคัญอย่างยิ่งยวดดังกล่าวทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงได้กำชับพรรคร่วมรัฐบาลให้ควบคุมเสียง ส.ส.ให้เข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีที่ “รอมชอม” ประนีประนอมมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งกับพรรคร่วมรัฐบาล และกับพรรคพลังประชารัฐบางกลุ่มก๊วนที่เคยปัญหาก่อนหน้านี้ ส่วนสำคัญเชื่อว่าต้องการ “ประคับประคอง” รัฐบาลผสมของเขาให้อยู่ครบวาระ หรือไปให้ไกลที่สุด เนื่องจากยังมีภารกิจสำคัญกำลังรออยู่ ทั้งในเรื่องของการใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อ “เร่งสร้างผลงาน” ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและกำลังเดินเครื่องเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เป้าหมายก็เพื่อกลับมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งคราวหน้า
อีกเรื่องที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้กันกัน ก็คือ วาระการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซียแปซิฟิก หรือ “เอเปก” ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำหน้าที่ประธานการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจะรับมอบการเป็นประธานการประชุม ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ไปจนถึงปีหน้า ถือว่าเป็นงานระดับโลก และที่สำคัญ “จะเป็นหน้าเป็นตา” ทั้งกับประเทศและกับตัวเขาเองที่จะได้กระทบไหล่คนดัง เนื่องจากมีผู้นำประเทศมหาอำนาจระดับโลกมาร่วมประชุมจำนวนมาก และที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญกับการประชุมครั้งนี้มาก มีการเตรียมการมานานหลายปีแล้ว
ทั้งสองเรื่องดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการเร่งสร้างผลงานหลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดคลี่คลาย และการเป็นประธานการประชุมเอเปก ที่ต้องประคับประคองให้ผ่านไปให้ได้ จึงได้เห็นท่าทีรอมชอมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแบบใหม่ ขณะเดียวกัน ยังมีการเข้าหา ส.ส.มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะท่าที่ใหม่ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มก๊วนต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ ถึงขั้นมีความเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตอันใกล้นี้เขาจะสมัครเป็นสมาชิกพรรค และรับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หลังจากส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าจะไม่ตั้งพรรคใหม่ โดยบุคคลที่เคยมีชื่อเป็นผู้ตั้งพรรคสำรองอย่าง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือ “ปลัดฉิ่ง” ที่ล่าสุดก็มีรายงานว่า เตรียมสมัครเข้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว พร้อมๆ กับข่าว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่งถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ก็จะมาเป็นสมาชิกพรรคนี้ด้วย
แต่ที่น่าจับตาก็คือการนัดดินเนอร์กระชับมิตรกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ โดยพรรคพลังประชารัฐเป็นเจ้าภาพ และในงานดังกล่าวมีการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมด้วย แน่นอนว่านี่คือภาพของท่าที่ใหม่ที่มีความใกล้ชิดกับ ส.ส.มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็ได้กล่าวว่าเพื่อต้องการรับฟังปัญหาเสียงสะท้อนของประชาชนผ่านทางผู้แทนฯ
ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ก็ย่อมมองเห็นแบบหวังผลไปถึงอนาคตข้างหน้า ทั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล นั่นคือ การรอมชอมเพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นไปให้ได้ เนื่องจากยังมีวาระสำคัญที่กำลังรออยู่ แต่ถึงอย่างไรมันก็ยังน่าหวาดเสียวอยู่ดี เพราะยังไม่อาจคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ !!