มติรัฐสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ฯ วาระแรก ตั้ง 49 กมธ.วิสามัญ พิจารณาแปรญัตติภายใน 15 วัน ขณะที่ “ส.ส.” ติงไม่คำนึงหลักกระจายอำนาจ
วันนี้ (9 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ...ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมี นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวนำเสนอเนื้อหา ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปด้านการศึกษาที่ให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยการสร้างโอกาสให้ผู้อยู่ในวัยเรียนให้เข้าถึงการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้อย่างทั่วถึง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว มีทั้งสิ้น 31 มาตรา และมีรายละเอียด อาทิ ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้, เปลี่ยน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้ทุกจังหวัดนอกจากกทม.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด เพื่อกำกับ ดูแล และสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ และภาคีเครือข่าย ในการส่งเสริมและส่วนร่วมการเรียนรู้ ทั้งนี้ได้กำหนดให้ข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบฯ โอนย้ายเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และให้เลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ที่ประชุมรัฐสภาส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน แต่ได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญ อาทิ ควรกระจายอำนาจทางการศึกษา การเรียนรู้ สู่ท้องถิ่น อย่างชัดเจน โดยให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่กำหนดให้กรมส่งเสริมฯส่วนกลาง เป็นผู้พิจารณาดำเนินการ นอกจากนั้น ควรกำหนดให้มีกรรมการระดับจังหวัดเพื่อติดตามคุณภาพการศึกษาการเรียนรู้ระดับต่างๆ นอกจากนั้น ควรสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งเสนอให้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนต่อการเทียบโอนผลการเรียนทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ สมรรถนะ จากการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านเวลา เช่น 30-90 วัน เช่นเดียวกับการนำผลการเรียนรู้เทียบเคียงเพื่อรับรองวุฒิ หรือการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ
ทั้งนี้ การอภิปรายในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามข้อตกลงของวิป 3 ฝ่าย ได้นำการกำหนดจำนวนผู้อภิปรายตามโควตาพรรคมาปฏิบัติ ทั้งนี้ นายชวน แจ้งว่าการกำหนดจำนวนผู้อภิปรายตามโควตาพรรคนั้น เพื่อกำหนดเวลาได้เบื้องต้นให้สมาชิกรับทราบว่าจะมีการลงมติในช่วงเวลาใด
จากนั้น เวลา 15.40 น. ภายหลังจากที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายครบทั้ง 45 คน นายชวนได้ขอมติที่ประชุมว่าเห็นควรรับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้หรือไม่ โดยที่ประชุมรัฐสภา ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ด้วยคะแนน 532 ต่อ 38 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียงง 6 พร้อมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 49 คน และดำเนินการแปรญัตติ 15 วัน ทั้งนี้การลงมติร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ...ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและใช้เวลาพิจารณาในการลงมติเกือบ 7 ชั่วโมง จากนั้นนายชวนได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 16.00 น.