เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองชี้หากเด็กเรียนไม่ทันจะยิ่งหลุดจากระบบการศึกษา แนะ ร.ร.ใช้ 5 มาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยรับเปิดเทอม เน้นประเมินและช่วยเด็กเป็นรายคน พร้อมชูนวัตกรรม กล่องการเรียนรู้ ช่วยลดช่องว่าง ส่งผลนักเรียนมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
วันนี้ (8 พ.ย.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ได้แก่ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์ยุวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และ 11.สพป. สุรินทร์ เขต 2 ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจจำนวน 659 แห่งทั่วประเทศ จัดเสวนาออนไลน์ “โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิด-19 ครั้งที่ 1”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวว่า Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Gap ช่องว่างการเรียนรู้ เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยมานานและมากกว่าที่เกิดขึ้นจากโควิด -19 แต่หลายฝ่ายไม่รู้ตัว เป็นช่องว่างที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาโดยใช่เหตุ ไม่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เต็มศักยภาพ นักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ถ้าไม่ระวังจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และไม่ได้รับการดูแล เป็นช่องว่างที่ต้องปิดเพื่อทำให้อย่างน้อยนักเรียนทุกคนต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นต่ำ นี่เป็นเป้าหมายที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง ประเทศที่คุณภาพการศึกษาดีทำได้ แต่ไม่ใช่ที่ประเทศไทยทำอยู่ในปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อและเปลี่ยนระบบ เรื่องนี้เป็นเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่ กสศ.ร่วมกับ สพฐ. ตชด. อปท. สช. และ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง
“GAP หรือช่องว่าง มีมากกว่าและใหญ่กว่า COVID GAP เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของการศึกษาของเรา ไม่ใช่แค่ประเทศไทย อีกกว่าครึ่งโลกก็เป็น แต่หลายประเทศรู้ตัวและหาทางแก้ไข ประเทศฟินแลนด์ใช้เวลากว่า 30 ปีจัดระบบที่ให้นักเรียนไม่ว่าอยู่ห่างไกลแค่ไหน แต่ต้องได้รับการศึกษาที่คุณภาพเท่าเทียมกัน เรื่องนี้สามารถทำได้ในประเทศไทย แต่ต้องเป็นนโยบาย ของไทยขณะนี้ แม้ว่าต้องการให้เท่าเทียม แต่วิธีปฏิบัติสร้างความแตกต่าง สร้างความไม่เท่าเทียม สร้างความด้อยโอกาสให้แก่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล นี่คือปัญหา เช่น ทุกโรงเรียนได้รับงบประมาณแบบเดียวกัน เหมือนกันหมดทั้งประเทศ นโยบายนี้สร้างช่องว่างโดยไม่รู้ตัว ในนามของความหวังดี แต่จริงๆ แล้วคือนโยบายที่ไม่ดี” ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าครูไม่เรียนรู้จากการทำหน้าที่ของตน นี่คือหัวใจ ในโลกปัจจุบันการศึกษา การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมากทั้งมุมของเด็ก และครู ดังนั้น แม้ครูเรียนมาจากสถาบันที่เก่งเท่าไหร่ พอมาทำงาน ความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นไม่พอ ต้องเรียนรู้เพิ่ม ต้องเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู ครูต้องเป็นนักเรียน เรียนจากการทำงานในหน้าที่ครู เรียนร่วมกัน ดังนั้นโรงเรียนต้องเป็นชุมชนการเรียนรู้ (learning community) ทั้งของครูและของศิษย์
“ผมเชื่อว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไม่มีวันเต็ม 100% เด็กแต่ละคนเต็มไม่เท่ากัน ผมเข้าใจว่าขณะนี้โดยเฉลี่ยของเด็กไทย น่าจะไม่ถึง 30% เด็กเก่งอาจไม่ถึง 80-90% แต่จะมีเด็กบางคนอาจได้แค่ 10-20% ไม่ใช่พูดให้ท้อถอย หรือตำหนิใคร แต่ชี้ให้เห็นว่า ครู โรงเรียน มีโอกาสที่จะพัฒนาอีกมากมาย ช่วยกันหาทาง เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น” ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวอีกว่า ถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนดี หลายครั้งนักเรียนที่หงอย ไร้แรงบันดาลใจ กลายเป็นคนมีชีวิตชีวา เท่ากับว่าครูได้ชุบชีวิตของนักเรียนขึ้นมา กรณีเด็กเกเร ครูก็สามารถช่วยได้ โดยการใช้เรื่องของปฏิสัมพันธ์เชิงบวก นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการใช้ปฏิสัมพันธ์แบบนายกับลูกน้องระหว่างครูกับผู้บริหาร ปฏิสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง เชิงอำนาจ เป็นตัวบั่นทอนคุณภาพการศึกษา เป็นคำพูดของนักการศึกษาทั่วโลกที่ทำวิจัยมา และชี้ให้เห็นว่า การสร้างเงื่อนไข กติกา ออกข้อบังคับ ออกหลักสูตรให้ดีอย่างไรแต่ครูไม่เป็นครูผู้ก่อการ ทำงานเพื่อสนองนาย สนองคำสั่ง ระบบการศึกษาไม่มีวันที่มีคุณภาพได้ นี่คือผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก ดังนั้น ความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างผู้บริหารกับครู นั่นหมายความว่า ปฏิสัมพันธ์เน้นความเป็นแนวราบ ผู้บริหารต้อง Empower ครู ไม่ใช่สั่งการครู ทำให้ครูมีพลังขึ้นมา เพื่อจะทำงานพัฒนา ครูนั้นไม่ใช่เป็นเพียงผู้ทำงานเชิงเทคนิค หรือสอนเท่านั้น แต่เป็นผู้ทำงานพัฒนาในทุกระดับ จนถึงระดับจังหวัด ระดับประเทศ ครูเป็นผู้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบการศึกษาในทุกระดับ ไม่ใช่แค่ผู้รอรับคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น
สำหรับช่องว่างหรือ GAP ระหว่างต้นสังกัดใหญ่ โรงเรียนและครูนั้นต้องร่วมกันสร้างสัมพันธ์แนวราบในระบบการศึกษา เป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ ไม่ใช่สายการบังคับบัญชา เพื่อให้ทุกจุดของระบบมีพลังสร้างสรรค์ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยไปถูกทาง เป็นระบบที่เรียนรู้และปรับตัว การศึกษาไทยปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่มีการเรียนรู้ เพราะสั่งการจากเบื้องบนหมด ข้างล่างปฏิบัติตามคำสั่งและมีการมาตรวจวัด ไม่มีวันที่เราจะทำให้การศึกษามีคุณภาพอย่างแท้จริง
“ถ้าการศึกษาใดครูไม่เป็นผู้ก่อการ หวังยากมากที่จะทำให้การศึกษานั้นมีคุณภาพสูง หัวใจสำคัญคือ อยู่ที่ความเป็นผู้ก่อการ (agency) ในระดับปฏิบัติ แต่แน่นอนว่าระดับนโยบายมีความสำคัญด้วย นโยบายที่ทำให้เกิดขึ้นได้ คือนโยบายแบบ empowerment ความสัมพันธ์แนวราบ” ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว
ในช่วงการเสวนาออนไลน์ในประเด็นการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย จากประสบการณ์เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กล่าวว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตที่เข้ามาซ้ำซ้อนวิกฤตช่องว่างการเรียนรู้เดิม ดังนั้นเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองจึงพยายามใช้มาตรการที่ลดช่องว่างการเรียนรู้ให้มากที่สุด เพราะสิ่งที่เรากังวลคือการที่เด็กหลุดออกนอกระบบ การฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss จึงไม่ไช่เพียงด้านวิชาการเท่านั้น ต้องประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ด้านวิชาการ 2. ด้านพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ 3. ทักษะทางสังคม ดังนั้นการเปิดเทอมจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่แผนการสอน
สำหรับมาตรการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยมี 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. การประเมินสภาพแวดล้อมเด็กและครอบครัวทั้งระบบ ผู้ปกครองและครูสามารถช่วยกันประเมินความพร้อมของเด็กเป็นรายคน เช่น งานวิชาการบางอย่างเด็กเคยทำได้แต่วันนี้กลับทำไม่ได้ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจของครอบครัว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 2. การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อฟื้นฟูการเรียนถดถอย เรื่องนี้ไม่สามารถทำแค่ครูบางคน บางชั้นเรียน เพราะเด็กทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้น ต้องวางแผนระดับโรงเรียน ทั้งระบบงาน มีทีม ทรัพยากร และงบประมาณ 3. สนับสนุนเครื่องมือและการพัฒนาครู เช่น พัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเครื่องมือเพื่อประเมินช่องว่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กรายคน และจัดการเรียนการสอนช่วยเด็กๆ ได้ รวมถึงการสร้างสื่อการเรียนรู้ 4. การช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคล เพราะสถานการณ์ที่บ้านของเด็กมีความต่างกัน ต้องประเมินเพื่อจัดการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล หรืออย่างน้อยที่สุดจัดการเรียนการสอนเป็นรายกลุ่มเพราะเราไม่สามารถใช้แผนเดียวทั้งห้องเรียนได้ 5. การติดตามและปรับปรุง ต้องทำในระยะสั้น ทำไปปรับไป เพื่อให้ทันสถานการณ์
“เราไม่สามารถทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและกลับไปเปิดเทอมตามปกติได้ อยากให้มองเห็นว่ามีอะไรที่จะต้องเติมเต็มเด็กรายบุคคล หรือเติมเต็มสิ่งที่หายไป ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นที่ของเขา ถ้าเด็กดั้นด้นมาโรงเรียนได้แล้ว แต่โรงเรียนกลับไม่ตอบโจทย์ สอนตามแบบแผนปกติ เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง ยิ่งซ้ำเติมว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ของเขา โอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาค่อนข้างมาก เพราะครอบครัวต้องการให้เด็กออกไปช่วยทำงานอยู่แล้ว การช่วยเหลือนั้นต้องยื่นมือไปถึงครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มยากลำบาก ถ้าครอบครัวยากลำบาก การที่เด็กมาโรงเรียนแล้วจะเรียนรู้อย่างมีความสุขคงเป็นไปได้ยาก” ดร.นรรธพรกล่าว
“ถอดบทเรียนนโยบายต่างประเทศ ลดช่องว่างการเรียนรู้”
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า หลายประเทศให้ความสำคัญต่อการวัดและประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment) เพราะเด็กกลับมาด้วยพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ครูต้องสามารถประเมินรายคนได้ ควรได้รับการติดตามและเยียวยาเป็นรายบุคคลจนพัฒนาการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีตัวอย่างนโยบายในระดับชาติที่น่าสนใจจำนวนมากเพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ เช่น โครงการ Teach at the Right Level (TRL) ขององค์กร Pratham ในอินเดีย ประเมินความรู้ของเด็กว่าอยู่ที่ระดับไหนเพื่อสอนให้เด็กคนนั้นฟื้นฟูความรู้กลับมา และสร้างอาสาสมัครชุมชนช่วยสอนเสริมให้เด็กที่เรียนตามไม่ทัน ขณะที่ในเอเชียใต้ แอฟริกา ก็ใช้อาสาสมัครช่วยสอน เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ติดตามเพื่อนกลับเข้าห้องเรียน องค์กร BRAC ในบังกลาเทศ มีโครงการ Pashe Achhi หรืออยู่ข้างคุณ ช่วยเหลือสนับสนุนดูแลสุขภาพจิต (Psychosocial) โดยการโทรศัพท์ไปคุยเพื่อสำรวจให้กำลังใจผู้ดูแลและพ่อแม่เด็กทุกสัปดาห์ สำหรับประเทศที่มีงบประมาณจำนวนมาก เช่น อังกฤษ รัฐบาลตั้งกองทุนงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ชื่อ educational catch-up initiatives เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ให้มั่นใจว่านักเรียนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดให้มีโครงการ National Tutoring Programme โดยโรงเรียนสามารถจ้างติวเตอร์เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีช่องว่างการเรียนรู้ มีการจัด in-house mentor ให้กับกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งผู้มาเป็น mentor จะต้องผ่านการอบรมเป็นการเฉพาะ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ขณะที่เวลส์ มีการรับสมัครครู และผู้ช่วยสอนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักเรียน และกลุ่มด้อยโอกาส เปราะบางในทุกกลุ่มอายุ
“ชูนวัตกรรม กล่องการเรียนรู้ ช่วยลดช่องว่างกลุ่มเข้าไม่ถึงออนไลน์ ส่งผลนักเรียนมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ”
น.ส.มินตรา กะลินตา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) จ.สมุทรสาคร เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง กล่าวว่า แม้เด็กนักเรียนจะไม่สามารถมาโรงเรียนได้ แต่การเรียนรู้ไม่มีวันหยุดคุณครูสำรวจความพร้อมของนักเรียนทุกคนว่ามีความสามารถเรียนในรูปแบบใดได้บ้าง ต้องยอมรับว่าแต่ละครอบครัวมีความหลากหลาย ทั้งชาวไทยและต่างด้าว เช่น ลาว มอญ แต่นักเรียนสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามความพร้อมรายบุคคล ไม่อัดแน่นเนื้อหาในออนไลน์มากเกินไป ต้องทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน หากตึงเครียดมากเราพบว่าชั่วโมงถัดมานักเรียนจะเริ่มหายไป นอกจากนี้ยังมีคลิปการเรียนการสอนดูย้อนหลังได้ สำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ผู้ปกครองต้องออกไปทำงาน 1 บ้านมีโทรศัพท์เพียง 1 เครื่องเท่านั้น ซึ่งการจัดทำใบงานเพียงอย่างเดียวนานวันเข้าก็ขาดการส่งงาน เพราะนักเรียนไม่เข้าใจ จึงนำนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ หรือ Learning box เข้ามาปรับใช้ในแต่ละรายวิชา นักเรียนได้ลงมือทำ ประดิษฐ์ ทดลองจากอุปกรณ์ในกล่องการเรียนรู้ แทนการนั่งเขียนแต่ใบงาน
“แม้โรงเรียนปิด แต่การทดสอบระดับชาติยังดำเนินต่อไป ทั้ง RT ป.1 NT ป.3 และ O-NET ป.6 ซึ่งเราพบว่าจากการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียน นวัตกรรม learning box ได้ผลจริงๆ เห็นได้จากผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนทุกรายวิชา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทั้งหมด” น.ส.มินตรากล่าว
นางมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนแบบ onsite ได้ คุณครูจะลงพื้นที่ 4 วันต่อสัปดาห์ และอีก 1 วันเป็นการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาทันท่วงที โดยแบ่งเด็กเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง ตามปัญหาและข้อจำกัดในการเรียนรู้ เพื่อวางแผนการสอนรายคน โดยมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาเพราะแต่ละครอบครัวมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน สำหรับการสอนออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องสอนเหมือนในห้องเรียน เด็กๆ จะมีสมาธิเพียง 20-30 นาทีแรกเท่านั้น ดังนั้นจึงสอนในสิ่งที่เด็กๆ ต้องรู้ภายใน 20 นาทีแรก อีก 20 นาทีมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ จะเป็นงานกลุ่มหรือเดี่ยว จากนั้นอีก 5 นาทีเป็นการ feedback ถ้ามีเวลาเหลือก็เล่นเกม ผลตอบรับพบว่าเด็กๆ ตอบสนองเนื้อหาที่คุณครูสอนได้ถึง 90% เปิดหน้ากล้องทุกคน สำหรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์มีถึง 80% ได้ออกแบบ “learning box” หรือกล่องการเรียนรู้ ทั้งเรื่องทักษะชีวิต ทักษะความรู้ กิจกรรมการอ่านเขียน คำนวณ พื้นที่นักสร้างสรรค์ ส่วนเด็กอนุบาล ครูจะลงพื้นที่สอนในชุมชนครั้งละ 7-8 คน มีทั้งรถ mobile บางครั้งก็ปูเสื่อใต้ต้นไม้ พยายามหาพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากที่สุด
นายชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล จ.นครปฐม กล่าวว่า ผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงเนื่องจากนครปฐมเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จากการสำรวจมีเด็กที่ขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์ถึง 70% แม้จะได้รับการสนับสนุนซิมโทรศัพท์ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมนักเรียนทุกคน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเด็กเกิดความรู้ถดถอยจำนวนมาก โดยเฉพาะ ป.1 มีปัญหาหนักที่สุดเพราะยังมีทักษะการอ่านน้อย การเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงทำได้ยาก โรงเรียนได้ใช้นวัตกรรม “learning box” หรือกล่องการเรียนรู้แทนการเรียนออนไลน์ โดยครูจะวิเคราะห์หน่วยการเรียนรู้ทั้ง 8 หน่วยสาระ เจาะลึกไปยังหน่วยที่จำเป็นคือหน่วย “ต้องรู้” ก่อน และเสริมหน่วยที่ “ควรรู้” เพิ่มเข้าไป ครูจะทำงานเป็นทีมออกแบบ Booklet ใบความรู้ ใบงาน ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง ดีกว่าการอ่านจากกระดาษเพียงอย่างเดียว โรงเรียนจะนัดหมายให้เด็กๆ มารับกล่องการเรียนรู้ที่โรงเรียน หรือครูจะนำกล่องไปให้กรณีที่มาไม่ได้ ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ผู้ปกครองสามารถทำหน้าที่เป็นครูที่บ้านได้ ช่วยลดช่องว่างได้เป็นอย่างดีในวิกฤต จากการติดตามการเรียนรู้พบว่านักเรียนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม มีความสุขในการใช้กล่องการเรียนรู้ และผู้ปกครอง 90% พอใจการจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต
ดร.สุนิสา คงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนพุดซา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าเด็กพร้อมเรียนออนไลน์แค่ 10% ครูจึงช่วยกันออกแบบ “กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้” แทน “กล่องการเรียนรู้” ภายในบรรจุสื่อการสอนที่เป็นสื่อมาตรฐานตั้งต้น และค่อยพัฒนาเพิ่มเติมตามความแตกต่างแต่ละพื้นที่ หรือแตกต่างของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาคุณครูด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กที่มีช่องว่างของการเรียนรู้ แต่ครูก็มีช่องว่าง เราต้องให้ครูเกิดการพัฒนาทั้งเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งครูต้องยอมเหนื่อยปรับตัวเองกับการสอนที่ไม่ได้เจอตัวเด็ก ทำให้ต้องเขียนแผนการสอน ออกแบบสื่อ Booklet ที่จะไปใส่กระเป๋าแดง และเมื่อเด็กๆ มาส่งผลงานทุกสิ้นเดือนก็จะตรวจวัดประเมินผลทั้งตัวชี้วัดและทักษะต่างๆ