“เพื่อไทย” ห่วง “ประยุทธ์” ตามอาชญากรรมไซเบอร์ไม่ทัน หลัง ปชช.เดือดร้อนจากการถูกลอบถอนเงิน ชี้เคยเตือนแล้วสมัยพร้อมเพย์ แขวะ “ก.ดีอีเอส” ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากกว่าจับแต่เฟกนิวส์
วันนี้ (22 ต.ค. 64) นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่มีอาชญากรรมทางไซเบอร์ มีการดูดเงินจากบัญชีธนาคารบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เสียหายแล้วเป็นผู้ถือบัตรเครดิต 5,700 ราย คนถือบัตรเดบิต 4,800 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 130 ล้านบาท เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก และ เชื่อว่า จะมีอาชญากรรมทางไซเบอร์ในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้นอีก เหมือนในต่างประเทศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลจะต้องตามให้ทัน และมีมาตรการปกป้องคุ้มครองประชาขนไม่ให้เป็นเหยื่ออาชญกรรมทางไซเบอร์นี้ ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายนกระทรวงสาธารณสุขออกยอมรับเองว่ามีการแฮกข้อมูล โดยมีข่าวว่าเป็นข้อมูลของประชาชนกว่า 16 ล้านราย และมีเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลถูกแฮกเพื่อเรียกค่าไถ่หลายแห่ง ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าประเทศไทยมีความอ่อนแอในการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์นี้ และอาจจะเป็นเป้าหมายมากขึ้นในอนาคตถ้าหากไม่สามารถป้องกัน และ สร้างความเข้มแข็งเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์นี้
ทั้งนี้ หากจำกันได้ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยได้เตือนปัญหาของอาชญากรรมทางไซเบอร์นี้ ตั้งแต่สมัยที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการโครงการพร้อมเพย์ โดยพยายามจะให้ประชาชนทุกคนเข้าไปใช้ระบบพร้อมเพย์นี้ และได้เตือนรัฐบาลว่าเป็นห่วงว่าหากไม่มีระบบการป้องกันที่ดีพอ อาชญากรรมทางไซเบอร์จะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก
จากข้อมูลที่ได้รับทราบว่าการดูดเงินเกิดมาจากการซื้อขายออนไลน์ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเข้าตรวจสอบและถือโอกาสนี้ในการเก็บข้อมูลและรักษาข้อมูลการค้าออนไลน์ทั้งหมด ทั้งนี่เพื่อป้องกันอาชญกรรม อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลในบิ๊กดาต้าของรัฐในการวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ในอนาคต และยังจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีด้วย
ทั้งนี้ อาชญากรรมทางไซเบอร์ครั้งนี้เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยให้รัฐบาลไทยตื่นตัว เพราะนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะมีมากกว่านี้ในอนาคต โดยในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วแม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา นายซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกูเกิล ยังเพิ่งออกมาเตือนรัฐบาลสหรัฐฯถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ และอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่จะมีมากขึ้น และให้รัฐบาลสหรัฐฯเตรียมตัวให้พร้อม
ดังนั้น กระทรวงดีอีเอส จะต้องตื่นตัวและเร่งรับมือกับปัญหานี้โดยด่วน ไม่ใช่คิดแค่เรื่องจับเฟคนิวส์ ซึ่งหลายครั้งดูเหมือนกลายเป็นรัฐบาลที่ออกข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และทำให้ดูเหมือนเป็นผู้ให้เฟคนิวส์เสียเอง หรือการไล่ปิดเว็ป เพียงแค่นั้น คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย จึงอยากขอเสนอให้รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะกับ คณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบ ด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อร่วมมือกันจัดเตรียมระบบป้องกันอาชญกรรมทางไซเบอร์ที่เข้มแข็ง เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาล ธนาคารและเอกชนอาจจะร่วมมือกัน โดยรัฐบาลและธนาคารออกทุน โดยใช้ข้อมูลจากภาคเอกชนและประชาชนที่เคยได้รับผลประทบ เพื่อให้ได้ระบบการป้องกันที่ดีสุด ซึ่งในปัจจุบัน ทั้งบุคคลากรและเงินทุน ไม่เพียงพอในการบริหารงานส่วนนี้ เหมือนรัฐบาลไม่เข้าใจและไม่ให้ความสนใจในส่วนนี้มากนัก
การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วจะมีทั้งประโยขน์และมีทั้งโทษ และอาชญากรรมที่จะตามมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหา โดยจะต้องคิดล่วงหน้าหน้าและหาทางป้องกันและปราบปรามเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างมากได้ ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ ขาดความรู้และตามไม่ทัน ความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจจะมากเกินรับมือก็เป็นได้