จ่อชง "บอร์ดเขตเศรษฐกิจพิเศษชุดใหญ่" ขอขยายพื้นที่เพิ่มเติม 2 จังหวัด "หนองคาย-สระแก้ว" โดย เขตอำเภอเมืองหนองคาย เพิ่ม 2 ตำบล "เมืองหมี -ปะโค" กว่า 22,026 ไร่ ส่วน "จ.สระแก้ว" ขอเพิ่ม 3 ตำบล"บ้านใหม่หนองไทร-ฟากห้วย-อรัญประเทศ" ในอำเภออรัญประเทศ 53,262.50 ไร่ เน้นเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เผยอีก 2 ข้อเสนอ "มุกดาหาร-ตราด" ตกไป! เหตุทับซ้อนป่าสงวน ใหญ่เกินจำเป็น
วันนี้ ( 20 ต.ค.64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดประชุมคณะทำงานชุดพิเศษที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ร่วมกันหลายหน่วยงานรวมถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กรมธนารักษ์ กรมป่าไม้ ฯลฯ
โดยเฉพาะข้อเสนอการขอขยายขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ จ.มุกดาหาร จ.ตราด จ.สระแก้ว และจ.หนองคาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัด ร่วมให้ข้อมูลด้วย
"ที่ประชุม เห็นชอบ ให้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.หนองคาย และ จ.สระแก้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ว่างและจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ตลอดจนเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเติม"
มีข้อสังเกตจากที่ประชุมว่า กรณีการขอขยายพื้นที่เพิ่มเติมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.มุกดาหาร และ จ.ตราด เนื่องจาก จ.มุกดาหาร ได้ขอขยายพื้นที่เพิ่มเติมครอบคลุม "ตำบลคำปาหลาย" ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ส่วน จ.ตราด ได้ขอขยายพื้นที่เพิ่มเติมครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง และอำเภอบ่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 83.3 ของพื้นที่ จ.ตราด ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่นที่ขอขยายพื้นที่ในระดับตำบล
"จึงเห็นว่า การขยายพื้นที่ดังกล่าว มีขนาดพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ และอาจไม่สอดคล้องกับหลักการของ สศช. เรื่องความประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ในการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน"
โดยขอให้ กระทรวงมหาดไทย สภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งให้ จ.มุกดาหาร จ.ตราด จ.สระแก้ว และ จ.หนองคาย พิจารณาและตรวจสอบหลักเกณฑ์ รวมทั้งเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้ครบถ้วน
ให้ กระทรวงมหาดไทย รวบรวมข้อมูลและนำเสนอ ต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ(กพศ.) เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับข้อมูลที่ 4 จังหวัด นำเสนอคณะทำงาน ประกอบด้วย จ.มุกดาหาร ขอเพิ่มเติมพื้นที่ 1 ตำบล ในอำเภอเมืองมุกดาหาร คือตำบลคำป่าหลาย พื้นที่รวม 59,375ไร่
เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลที่มีการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารไว้แล้ว และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมสาหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม
"ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว เช่น โรงงานเอนเทคโพลิเมอร์ (ยางพารา) โรงงานนาคิเทค (พลาสติก) โรงสีข้าวสมบูรณ์พืขผลการเกษตร โรงงานพรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ (แป้งมัน) เป็นต้น"
จ.สระแก้ว ขอเพิ่มเติมพื้นที่ 3 ตำบล ในอำเภออรัญประเทศ ได้แก่ ตำบลบ้านใหม่หนองไทร ตำบลฟากห้วย และ ตำบลอรัญประเทศ พื้นที่รวม 53,262.50 ไร่ (85.22 ตร.กม.) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมากยิ่งขึ้น
จ.ตราด ขอเพิ่มเติมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตราด อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเขาสมิง พื้นที่รวม 1,436,125 ไร่ (2,297.8 ตร.กม.) เพื่อให้โครงข่ายการคมนาคม มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
โดยอำเภอเขาสมิง มีท่าอากาศยาน ในพื้นที่ ส่วนอำเภอปอไร่ และอำเภอเมืองตราด มีชายแดนติดกับกัมพูชา (จุดผ่อนปรนทางการค้าเนิน 400 บ้านม่วง ตำบลนนทรี และด่านช่องทางธรรมชาติ บ้านท่าเส้น ตำบลแหลมกลัด ตามลำดับ) และอำเภอเมืองตราด ยังเป็นทางผ่านไปยังพื้นที่เศรษฐกิจใกล้เคียง ของไทยคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
จ.หนองคาย ขอเพิ่มเติมพื้นที่ 2 ตำบล ในอำเภอเมืองหนองคาย ได้แก่ ตำบลเมืองหมี และตำบลปะโค พื้นที่รวม 22,026 ไร่ (35.24 ตร.กม.)
ขณะที่ หลักเกณฑ์การกำหนดขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย
(1) ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความได้เปรียบ (2) พื้นที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา (3) พื้นที่มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาเป็นพิเศษหรือเร่งด่วน (4) ประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้การยอมรับและการสนับสนุน (5) ประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาหรือมีแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ ต้องเป็นพื้นที่แบ่งตามเขตการปกครองตำบลและอำเภอ เพื่อจำกัดขอบเขตให้กระขับ และเกิด การประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ในการจัดโครงสร้างพื้นฐาน เป็นพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาความอ่อนไหว และเป็นที่ตั้งจุดผ่านแดนถาวร เป็นที่ตั้งจุดผ่านแดนถาวรที่มีปริมาณการค้าสูง 20 อันดับแรก หรืออยู่ใน ระเบียงเศรษฐกิจ GMS หรือ IMT-GT.