ทีมโฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ห่วงราคาพลังงาน-ราคาสินค้า เรียก รมว.พลังงาน ถกแก้ปัญหาน้ำมันแพง รับต้องประเมินสถานการณ์ตลอด พร้อมรับทราบการขยายเวลาลดเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราวอีก 1 ปี
วันนี้ (19 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.45 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นห่วงปัญหาเรื่องพลังงานและราคาสินค้า โดยแนวโน้มราคาพลังงานของโลกมีทิศทางขาขึ้นเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งความสัมพันธ์ของประเทศมหาอำนาจ ขณะเดียวกัน ฐานะกองทุนพลังงานก็มีข้อจำกัด โดยในวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว เพื่อดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานติดตามราคาสินค้าป้องกันการช่วยโอกาสขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม
ภายหลังการประชุม ใช้เวลาประมาณ 45 นาที นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในที่ประชุมได้รายงานความเดือดร้อนของประชาชน เกี่ยวกับราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีมาตรการสนับสนุนต่างๆ ทั้งการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้ และการกู้เงินเพิ่ม รวมถึงหากจำเป็นในการลดภาษีสรรพสามิต ก็ต้องหารือกัน แต่ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์ หากต้องตรึงราคานำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท โดยไม่ให้เกินเด็ดขาด แต่ทั้งนี้ ต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา หากราคานำมันโดดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.จะพิจารณาในเร็วๆ นี้
ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.รับทราบการขยายเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราวอีก 1 ปี โดยลดจากเดิมอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.23 ต่อปี จนถึงสิ้นปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินและส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างเต็มที่
สำหรับผลกระทบจากการขยายระยะเวลาดังกล่าว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินแล้วว่า ยังมีเงินเพียงพอสำหรับการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงเวลาดังกล่าว ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยที่ 2 พ.ศ.2545 (FIDF 3) และการชำระคืนหนี้ต้นเงิน FIDF 1 และ FIDF 3 จะแล้วเสร็จภายในปี 2574 เช่นเดิม