xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการแผ่นดินเริ่มเฟส 3 “โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ” ให้ นร.ครอบครัวยากจนไม่ได้เรียน คาดปีนี้มีจำนวนมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจการแผ่นดิน เริ่มเฟส 3 “โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ” ให้ นร.ครอบครัวยากจน ไม่ได้เรียน คาด ปีนี้มีจำนวนมาก เหตุปัญหาด้านเศรษฐกิจ และพิษภัยโควิด-19 หวัง 4 กระทรวง ช่วยสานต่ออนาคตเด็กไทย

วันนี้ (11 ต.ค.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน หารือร่วมผู้แทนกระทรวง มหาดไทย ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามปฏิทิน 12 ขั้นตอน ผ่านระบบ Video Conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเดินหน้าโครงการ “เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ” ปี 2565 ชุบชีวิตเด็กไทยที่กำลังจะเรียนจบชั้น ม.3 แล้วต้องทำงานทันที ให้เกิดคุณภาพที่ดีก่อนปล่อยสู่ตลาดแรงงาน ในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ”

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ซึ่งคาดว่า ในปีการศึกษานี้น่าจะมีเด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้น ม.3 แล้วไม่มีโอกาสได้เรียนต่อมีจำนวนสูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและพิษภัยโควิด-19 ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาในปีการศึกษา 2563 พบว่า มีนักเรียนเรียนจบ ม.3 จำนวนทั้งสิ้น 536,511 คน ไม่ได้เรียนต่อในระบบการศึกษาสูงถึง 22,168 คน ในจำนวนนี้ได้แจ้งความประสงค์เข้ารับการฝึกอบรมโครงการเพิ่มทักษะอาชีพฯ จำนวน 3,902 คน ปัจจุบันได้รับรายงานว่านักเรียนส่วนหนึ่งได้ประกอบอาชีพได้งานที่มั่นคงตามสถานประกอบการต่างๆ จำนวนมาก เช่น ช่างตรวจเช็กระยะรถยนต์ ช่างเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างซ่อมสีรถยนต์ ครูสอนภาษา เป็นต้น นอกจากบางนี้ส่วนได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อไปประกอบธุรกิจส่วนตัว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาและอุปสรรคบ้างแต่ได้นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและเตรียมการต่อไปตามกรอบปฏิทินการดำเนินโครงการ 12 ขั้นตอน ของปี 2565 เช่น ปัญหาครูแนะแนวยังไม่เข้าถึงข้อมูลของโครงการและยังไม่เข้าถึงการชี้แจงประโยชน์ที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น ในปีนี้จึงเน้นและให้ความสำคัญกับครูแนะแนวตั้งแต่ต้น เช่น กำหนดวันจัดประชุมชี้แจงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนว ในวันที่เหมาะสม เพื่อให้ครูแนะแนวสามารถเข้าร่วมได้มากที่สุด ครูแนะแนวถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการเชื่อมและเชิญชวนเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสและผู้ปกครองได้ทราบถึงความสำคัญ สิทธิประโยชน์ และเงินสนับสนุนต่างๆ ในการเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ต้องพิจารณาเรื่องการกำหนดหลักสูตรที่จะเปิดทำการฝึกต้องดูบริบทของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับยุคสมัยและสอดรับกับความต้องการของตำแหน่งงานว่างยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนทั่วประเทศที่ยังขาดโอกาสได้รับโอกาสพัฒนาทักษะวิชาชีพและเพิ่มมูลค่าฝีมือแรงงานของตัวเอง

นายสมศักดิ์ ย้ำว่า การชี้แจงในวันนี้ หวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับทราบถึงแผนการดำเนินงานโครงการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนต.ค.นี้เป็นต้นไป ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ คือ การสำรวจหาเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.3 และเชิญชวนให้สมัครเข้าร่วมโครงการ กระบวนการกลางน้ำ คือ การฝึกอบรมทักษะอาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสนับสนุนเงินสงเคราะห์ระหว่างฝึกอบรม จนถึงกระบวนการปลายน้ำ คือการสำรวจและเตรียมตำแหน่งงานว่างเพื่อรองรับเด็กที่ผ่านการฝึกอบรม แนวทางการสนับสนุนของหน่วยงานส่วนกลาง และการเตรียมพร้อมสำหรับการทำประชาสัมพันธ์โครงการเพิ่มทักษะให้นักเรียนและผู้ปกครองทั่วประเทศได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในระหว่างที่เข้าฝึกอบรม ได้แก่ เรียนฟรี พักฟรี กินฟรี มีเงินสนับสนุนช่วยเหลือระหว่างการฝึกอบรม เรียนจบ มีงานทำแน่นอนยกระดับเป็น “แรงงานฝีมือ” ได้ค่าแรงรายวันที่สูงขึ้นกว่าค่าแรงขั้นต่ำมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น