xs
xsm
sm
md
lg

ขยายผลความสำเร็จจากศูนย์ศึกษาฯ ห้วยฮ่องไคร้ฯ สู่เกษตรกรโครงการเกษตรวิชญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา ขยายผลความสำเร็จจากศูนย์ศึกษาฯ ห้วยฮ่องไคร้ฯ พร้อมจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นายธงชัย บุญเรือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา เปิดเผยว่า จากแนวพระราชดำริ ให้สำรวจและวางแผนการใช้ที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำ พร้อมหาแนวทางที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร และเลือกชนิดพืชให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้ราษฎรได้เรียนรู้การผลิตและนำเชื้อเพลิงจากวัสดุชีวมวลมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน เป็นวัสดุเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ไม้ฟืน ลดปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติ ราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกไม้ฟืน ส่งผลให้เกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรต้นแบบจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน เป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมแก่พื้นที่ ฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์

นายธงชัยกล่าวว่า อดีตประชาชนทำกินด้วยการทำไร่เลื่อนลอย พระองค์เล็งเห็นความสำคัญของการสูญเสียป่าไม้จึงให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูธรรมชาติและป่าไม้ขึ้นมา เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรในการทำการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยวางแผนการใช้ที่ดินจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พื้นที่ต้นน้ำจะทำการฟื้นฟูป่า 70 เปอร์เซ็นต์ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,350 ไร่ ปัจจุบันฟื้นฟูได้เต็มพื้นที่และจัดให้มีธนาคารอาหารชุมชน ด้วยการน้อมนำพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เรื่อง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาดำเนินการ เป็นจุดรวบรวมองค์ความรู้ในการทำการเกษตรอย่างถูกวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“พื้นที่ส่วนหนึ่งจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกินของราษฎรรายละ 1 ไร่ มีแหล่งศึกษาดูงาน 8 ฐาน อาทิ ฐานพัฒนาที่ดิน ที่แสดงถึงวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน การสร้างระบบดินและน้ำ การฟื้นฟูดิน โดยลักษณะของกระบวนการของเกษตรอินทรีย์ หรือการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแบบขั้นบันได การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก การใช้ระบบพืชในการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น” นายธงชัย บุญเรืองกล่าว

ด้านน.ส.ลลิตา จันปา เกษตรกรในโครงการเกษตรวิชญา กล่าวว่า ได้รับจัดสรรพื้นที่จากพระองค์ที่พระราชทานให้ทำกิน พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพื้นที่ให้เกษตรกรในหมู่บ้านกองแหะ คนละ 1 ไร่ รวมประมาณ 60 ราย ส่วนตนเองได้นำเกษตรพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในแปลงปลูกผักหมุนเวียน มีคะน้า ถั่วแขก หอมหัวใหญ่ หมุนเวียนตามฤดูกาล มีสหกรณ์การเกษตรบ้านกองแหะ ได้เข้ามาช่วยในการให้เงินทุน ในการซื้อเมล็ดพันธุ์ ถ้าเกิดว่าพวกเราต้องการจะขายผลผลิต ก็สามารถไปปรึกษาทางสหกรณ์ได้สหกรณ์ก็จะหาตลาดให้ ช่วยแนะนำว่านำไปขายที่ไหนได้บ้าง วิธีไหนที่จะขายได้ราคาผลผลิตที่ไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

“ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านทรงเหมือนบิดาคนหนึ่ง ที่รักและห่วงใยราษฎร มีโครงการต่าง ๆ เข้ามา ทำให้พวกเราคนไทยได้อยู่ดีมีสุขใช้ชีวิตแบบพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่พระองค์พระราชทานที่ดินให้กับเกษตรกรบ้านกองแหะ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ” น.ส.ลลิตากล่าว

ทั้งนี้ล่าสุดทางโครงการฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในรูปแบบถ่ายทอดข้อมูลและฝึกปฏิบัติ ในหลายหัวข้อ อาทิ การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดินและธาตุอาหารพืช การปรับปรุงบำรุงดินบนพื้นที่สูง การผลิตพืชผักปลอดภัย แนวทางการปลูกพืชผักบนพื้นที่สูง การปลูกไม้ผลเมืองหนาว แนวทางการผลิตพืชแบบเกษตรอินทรีย์ การจัดการดินสำหรับผลิตพืชอินทรีย์ การชะล้างพังทลายของดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยจัดขึ้น ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสนองความต้องการของตลาด ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน GAP ปลอดสาร เกษตรกรไม่ต้องผลิตมากแต่ได้คุณภาพและได้ราคาที่ดี วันนี้สภาพชีวิตของราษฎรที่บ้านกองแหะ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง มีน้ำ มีป่าที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารให้แก่ชุมชน ต่างจากในอดีตอย่างชัดเจน ด้วยน้ำพระราชหฤทัยความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อราษฎรเสมอมา


กำลังโหลดความคิดเห็น