xs
xsm
sm
md
lg

อว. โชว์งานสุดล้ำ ‘TechnoMart 2021’นิทรรศการเสมือนจริงบนยานอวกาศ ผลงานฝีมือคนไทย ดึงกูรู “ปลุกไอเดียสร้างสรรค์ผู้ประกอบการไทยผ่าน BCG โมเดล-นวัตกรรมคิดต่อยอดฝ่าโควิด-19”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าจัดงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2564 หรือ “TechnoMart 2021” ผ่านรูปแบบนิทรรศการออนไลน์เสมือนจริง หรือ Virtual Exhibition ภายใต้แนวคิด STI for New Normal ระหว่างวันที่ 27 - 29 กันยายนที่ผ่านมาโดยจำลองยานอวกาศ (อว.TOS) เสมือนผู้เข้าชมได้ท่องไปในโลกเสมือนจริง

นับว่าช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และตื่นตาไปกับผลงานวิจัย ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทย ผ่าน BCG โมเดล พร้อมกับดึงผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมกระตุกต่อมความความคิดสร้างสรรค์ผู้ประกอบการไทยร่วมเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสู่ Thailand NEXT Normal ภายใต้ข้อจำกัดของโรคระบาดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ด้วยการเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ ฟรี !! ตลอดงาน

รวมถึงนิทรรศการที่รวมหลากหลายเรื่องราวน่ารู้ กับผลงานการสร้างสรรค์กว่า 200 ผลงานจากนักประดิษฐ์ไทย อาทิ ผลงานด้านสาธารณสุขที่คิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยไทย เช่น หุ่นยนต์บนรถเข็นควบคุมทางไกล เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ติดเชื้อ และ “หุ่นยนต์ปิ่นโต 2” ที่ใช้งานง่ายผ่านการควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล มีแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานติดต่อกันได้นาน 8 - 9 ชั่วโมง 24 ชม. พร้อมกันนี้ ในงานยังแสดงสินค้า OTOP และสินค้าชุมชมที่ได้รับการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กิจกรรมเล่นเกมชิงรางวัล กิจกรรมการประกวดต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าเยี่ยมชมตลอด 24 ชั่วโมง

(ซ้าย) รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ (ขวา) ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง
รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “งาน TechnoMart มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานกระทรวง หน่วยงานเครือข่าย และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงฯ พร้อมผลักดันให้เกิดการเจรจาธุรกิจ การพัฒนาผลงานให้ตรงตามความต้องการของตลาด นำไปสู่การสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ในปีนี้ จึงมีการปรับรูปแบบการจัดงานเป็นการจัดนิทรรศการเสมือนจริง ในรูปแบบออนไลน์ ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และคุโณปการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของในหลวงรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 และผลงานของกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 80 หน่วยงาน มีผลงานจัดแสดง มากกว่า 200 ผลงาน ”

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ เป็นโอกาสดี ที่จะได้เห็นการนำศักยภาพการพัฒนาวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้อย่างจริงจัง และจับต้องได้มาร่วมจัดแสดงภายในงานครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น ห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม ที่เป็นนวัตกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานภาคสนาม หุ่นยนต์ปิ่นโต 2 เครื่องผลิตละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับฆ่าเชื้อ นวัตกรรมวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 และชุดตรวจโควิด

การพัฒนาผลงานสู่เชิงพาณิชย์ โดยผลงานด้านต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ทำให้มองเห็นอนาคตที่จะเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย และนำไทยทะยานสู่อนาคตใหม่ที่ยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม


นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพระมหากษัตริย์ไทย อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ขณะเดียวกันยังมีนิทรรศการที่สร้างสรรค์ เพื่อสอดรับกับแนวคิด “BCG Model” ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยมุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแบบองค์รวม ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ยังมีพิธีมอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์รอบชิงแชมป์ ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่มุ่งเน้นการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์จากองค์ความรู้ กระบวนการวิจัยและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่ผลงานที่มีประโยชน์ สามารถใช้งานได้จริง โดย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เครื่องช่วยแช่ข้าวและบ่มข้าวด้วยวิธีการนึ่ง เพื่อทำข้าวฮางงอก โดย วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากระบบกึ่งอัตโนมัติ โดยวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อชุมชน โดย วิทยาลัยเทคนิคลำปาง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ เตาด้วยไอน้ำอบโอ่งและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ โดย วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

ขณะเดียวกัน ผู้เข้าชมงานยังได้พบกับผลงานจากผู้เข้าประกวดแข่งขันในหัวข้อต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วม เช่น การประกวดคลิปรีวิวสินค้า “Techno MeeDee”, ประกวดวีดิโอประชาสัมพันธ์ชวนคนที่ใช่ ไปออนไลน์ที่ TechnoMart 2021 โครงการประกวดออกแบบอินโฟกราฟิก STI for New Normal กิจกรรมสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อต่างๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน การจำหน่ายสินค้าที่พัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการร่วมสนุกกับเกมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อร่วมลุ้นรางวัลอย่างมากมาย”

สำหรับผู้สนใจยังสามารถเข้าชม ติดตามข้อมูลของงานนี้ได้ที่ เพจ :https://www.facebook.com/TechnoMartThailand/และเว็บไซต์ : http://technomart2021.com/#index