“7 ว่าที่ กสทช.” ยังลูกผีลูกคน หลัง “ไอ้โม่ง” เดินแผน “น้ำลอดใต้ทราย” จับโยงผสมโรงความขัดแย้ง “2 ป.” หวังสอยร่วงในชั้นวุฒิสภา แต่รอบนี้ไม่ถึงขั้นล้มกระดาน แค่จิ้ม “พวกไม่ตามน้ำ” ออก หลังล็อบบี้ตัวคนนั่งประธานเหลว ปูดเดินแผนปูทาง “บิ๊ก กสทช.” ยึดเก้าอี้เลขาฯ กสทช.
ยังคงแปะป้าย “ว่าที่ กสทช.” เท่านั้น
สำหรับ 7 อรหันต์ผู้ผ่านการสรรหาให้เป็น กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อันประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ด้านกิจการโทรทัศน์ นางพิรงรอง รามสูต, ด้านกิจการโทรคมนาคม นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ, ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์, ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นายต่อพงศ์ เสลานนท์,ด้านอื่นๆ (ด้านกฎหมาย) ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ และด้านอื่นๆ (ด้านเศรษฐศาสตร์) นายศุภัช ศุภชลาศัย
ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯได้เสนอรายชื่อดังกล่าวไปยัง “วุฒิสภา” เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 15 และมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ล่าสุดก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรม ทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. อันมี พล.อ.อู้ด เบืองบน เป็นประธาน กมธ.
กำหนดกรอบการทำงานเป็นเวลา 60 วัน และคาดว่าจะส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบได้ในช่วงของการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาหน้า ที่กำหนดระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2564-28 ก.พ.2565
แต่ไม่ทันไรปรากฎว่า เริ่มมีกระแสข่าว “อาถรรพ์” จะซ้ำรอย เป็นอาถรรพ์ที่เคยเกิดกับ “ว่าที่ กสทช.” หลายชุด ที่มีอันต้องถูก “ล้มกระดาน” การสรรหาไปหลายต่อหลายครั้ง ในยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรืองอำนาจ
ทำให้ กสทช.ชุดเดิมอยู่โยงมาร่วม 10 ปี เพราะต้องอยู่รักษาการต่อแม้จะหมดวาระ และบางรายอายุเกินกว่าคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดไว้
มาครั้งนี้ “ว่าที่ กสทช.” ต้องตกอยู่ในอาการหายใจไม่ทั่วท้องอีกครั้ง หลังมีความเคลื่อนไหวของ “บิ๊ก กสทช.บางคน” ที่พยายามเดิมเกมล้มคว่ำการสรรหาหนล่าสุด
การเดินเกมในทางลับอาจเรียกว่า “แผนใต้ดิน” แต่สำหรับศึกชิงอำนาจ “อาณาจักรสายลม” หนนี้ ต้องถูกขนานนามว่า “แผนน้ำลอดใต้ทราย”
โดยมีความพยายามเชื่อมโยงรายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” ผสมโรงกับ “ประเด็นร้อน” เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ เมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ที่มีกระแสข่าวงหนาหูว่า มีขบวนการ “โค่นนายกฯ”
นำมาซึ่งการเช็คบิล “ผู้ก่อการ” ที่ทำให้เกิดรอยร้าวระหว่าง “ป.ประยุทธ์” พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีขบวนการ “ปั้นนำ้เป็นตัว” ปล่อยข่าวถึง “บิ๊กนอกราชการ” ที่ร่วมกันสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง “กบฎเกียกกาย”
มีการเอ่ยไปถึงชื่อ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และน้องชายของ พล.อ.ประวิตร ว่าเป็น “ต้นคิด” ในการเขย่าเก้าอี้นายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์
การขุดคุ้ยไปถึงความกินแหนงกันระหว่าง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป๊อด” ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อ “เพิ่มน้ำหนัก” ให้น่าเชื่อเข้าไปอีก
ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยข่าวคู่ขนานว่า “7 ว่าที่ กสทช.” ที่ผ่านเข้ามาล้วนแต่เป็น “สายบิ๊กป๊อด” แทบทั้งสิ้น
เพื่อให้ “บิ๊กตึกไทยคู่ฟ้า” เกิดอาการ “หวาดระแวง” และตีธงมาที่ “สภาสูง” ให้โหวตคว่ำชื่อว่าที่ กสทช.รอบนี้ ซ้ำรอยการสรรหา กสทช. และองค์กรอิสระที่ผ่านมา
อันเป็น“ลูกไม้เก่า” ที่เคยใช้ล้มการสรรหา กสทช.เมื่อช่วงต้นปี 2564 มาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นในวงการสื่อสารโทรคมนาคม มี “ประเด็นร้อน” กรณีจ่ายเงินเยียวยาการเรียกคืนคลื่น “บริษัทเอกชน” จึงถูกใช้เป็น “หัวเชื้อ” ในการขย่มกระบวนการสรรหา กสทช.
โดยแปะหน้าผากว่า 14 ว่าที่ กสทช.ครั้งนั้น เป็น “คนของเอกชน” เกินกว่าครึ่ง หากได้เข้าไปทำหน้าที่ก็อาจใช้อำนาจเอื้อประโยชน์โดยที่ฝ่ายรัฐเสียประโยชน์ ทั้งที่ขั้นตอนหลุดชั้นของ กสทช. และไปเป็นคดีความอยู่ในชั้นศาลแล้ว
ข่าวปล่อยที่ว่า หาก “หูเบา” ก็เคลิ้มหลงประเด็นไม่ยาก ซึ่งก็เชื่อกันว่า “บิ๊กตึกไทยฯ” ก็เคลิ้มไปด้วยอีกคน ทำให้เกิดภาวะ “ยื้อยุดฉุดกระชาก” กันยกใหญ่
เป็นจังหวะเดียวกับที่ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ มีผบลบังคับใช้ ส่งผลให้กระบวนการสรรหาในครั้งนั้นต้องยุติไปโดยปริยาย และเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ภายใต้กฎหมายใหม่
ก่อนนำมาซึ่ง “ว่าที่ กสทช.” ทั้ง 7 คนที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบประวัติฯขณะนี้
อย่างไรก็ตามข่าวว่า “แผนน้ำลอดใต้ทราย” ครั้งนี้ มิได้หวังถึงการคว่ำรายชื่อว่าที่ กสทช.แบบ “เทกระจาด” แต่เอาไว้เฉพาะรายที่ “เล่นตามน้ำ” แล้วเลือก “จิ้มออก” เฉพาะรายที่คุยไม่รู้เรื่อง
ด้วยหลังจากได้รายชื่อ 7 ว่าที่ กสทช. ก็เป็นตามปกติที่จะมีการกะเก็งล็อบบี้ล่วงหน้ากันว่า ใครจะได้รับเลือกให้เป็น “ประธาน กสทช.” ที่ไม่เพียงจะเป็น “นายท้าย” ควบคุมทิศทางการขับเคลื่อนขององค์กรแล้ว
ยังมีวาระสำคัญในการสรรหา “เลขาธิการ กสทช.คนใหม่” ด้วย
โดยเก้าอี้เลขาฯ กสทช.ว่างลงมาร่วมปีเศษ หลังจากที่ “บิ๊กน้อย” ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออกเมื่อ มิ.ย.63 ก่อนเกษียณไม่นาน เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.แต่พลาดหวังไป
สอดรับกับการที่จะมี กสทช.ชุดใหม่ ที่ส่งให้ กสทช.ชุดรักษาการต้องพ้นตำแหน่งไป ก็มีกระแสข่าวเนืองๆมาพักใหญ่ว่า มี “บิ๊ก กสทช.บางราย” ยังอาลัยอาวรรณ์ไม่อยากจากองค์กรแห่งนี้ไป แม้จะอยู่โยงเป็น “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” มาแล้วร่วม 20 ปีแล้วก็ตาม
ถึงขั้นจะยอมลดตัวจาก “บอร์ด” มา “หวังน้ำบ่อหน้า” เข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กสทช.
เมื่อโรดแมปวาระส่วนตัวเป็นเช่นนั้น การสรรหา กสทช.ครั้งล่าสุด จึงวิ่งวุ่นร่วมกับ “อดีตบิ๊ก กสทช.อีกคน” ผลักดัน “พรรคพวก” เข้าไปเป็น กสทช.ให้มากที่สุด เพื่อครอบงำองค์กรแห่งนี้ต่อไป
ที่สำคัญเมื่อถึงวาระการสรรหาเลขาธิการ กสทช. จะถือแต้มต่อเหนือกว่าคู่แข่งทั้งหมด
ทว่า รายชื่อที่ส่งประกวดเป็น กสทช.ผ่านตัดตัวเข้ารอบสุดท้ายได้ไม่ครบตามที่วางแผนไว้ จึงปรับแผนนัดล็อบบี้ว่าที่ กสทช.เพื่อล็อคตัว “ประธาน กสทช.” ล่วงหน้า
ปรากฎเสียงตอบรับจาก 7 ว่าที่ กสทช. ไม่สู้ดีนัก มีพวก “ไม่ตามน้ำ” มากกว่า “ตามน้ำ”
จึงเดินแผน “ปั้นน้ำเป็นตัว ภาค 2” ทันที โดยโยงรายชื่อว่าที่ กสทช.ผสมโรงกับความขัดแย้งทางการเมืองของ “2 ป.” ที่ว่าไปข้างต้น
ว่ากันว่า มีการกาหัวเขี่ย “ว่าที่ กสทช.” ออกถึง 4 ด้าน โดยจะให้วุฒิสภาโหวตไม่เห็นชอบ เพื่อให้มีการสรรหา และเสนอชื่อ “คนใหม่” มาที่วุฒิสภา
ที่สุด “แผนใต้น้ำ” จะสำเร็จตามที่วาดฝันไว้ หรือสุดท้ายกลายเป็น “น้ำน้อยแพ้ไฟ” ต้องติดตาม.