นายกฯ ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ คาดพิจารณาต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน ลดเวลาเคอร์ฟิว และผ่อนคลาย 5 กิจการ-กิจกรรม เปิดโรงหนัง-ศูนย์เด็กเล็ก-ร้านนวด-ฟิตเนส
วันนี้ (27 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ครั้งที่ 15 /2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดย ทาง ศปก.ศบค.เสนอแนวทางผ่อนคลายมาตรการกิจการ กิจกรรมต่างๆ ต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ให้พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือน หรือถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้ พร้อมกันนี้ ยังเตรียมเสนอให้เลื่อนการเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะเปิดในวันที่ 1 ต.ค.เป็นวันที่ 1 พ.ย.แทน
พร้อมกันนี้ เสนอให้ผ่อนคลายกิจกรรมที่ถูกสั่งปิด 10 ประเภท ได้แก่ 1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและวัยก่อนเรียน 2. ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดเอกชน ห้องสมุดชุมชน 3. พิพิธภัณฑ์แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน 4. ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หอศิลป์ 5. กีฬาในร่ม ในห้องที่มีระบบปรับอากาศ ฟิตเนส 6. ร้านทำเล็บ 7. ร้านสัก 8. ร้านนวด-สปา เพื่อสุขภาพ 9. ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ฉายภาพยนตร์ 10. การเล่นดนตรีในร้านอาหาร รวมทั้งปรับเวลาเคอร์ฟิวจากเดิม 21.00-04.00 น. เป็นเวลา 22.00-04.00 น.ซึ่งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานที่กลุ่มกีฬากลางแจ้ง ที่ร่มโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก การซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด ขยายเวลาปิดให้บริการในเวลา 21.00 น. จากเดิมคือ 20.00 น.เสนอให้พิจารณาปรับเวลาออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวจากเดิม 21.00-04.00 น. ขยับเป็นเวลา 22.00-04.00 น.
นอกจากนี้ จะเสนอลดระยะเวลากักตัวในสถานที่กักกันของรัฐ โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยทุกช่องทาง ที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศทางเครื่องบิน และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศช่องทางบก และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ศปก.ศบค.ยังเตรียมเสนอให้พิจารณาแนวทางเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อน้อยมาก หรือพื้นที่สีฟ้า โดยกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะและความพร้อมของพื้นที่
รวมถึงที่ประชุมพิจารณาแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 และแผนการบริหารจัดการวัคซีน ปี 2565 ด้วย