พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. โดยในที่ประชุมจะมีการพิจารณาหลายเรื่องตามที่ ศบค.ชุดเล็ก เสนอ ทั้งการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือน หรือจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
ขณะเดียวกัน เสนอให้เลื่อนการเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี (พัทยา บางละมุง สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ) จากเดิมวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
รวมทั้งเสนอให้ผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่ถูกสั่งปิดเพิ่ม 10 ประเภท ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และก่อนวัยเรียน, ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดเอกชน ห้องสมุดชุมชน, พิพิธภัณฑ์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน, ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หอศิลป์, กีฬาในร่ม ในห้องที่มีระบบปรับอากาศ ฟิตเนส, ร้านทำเล็บ, ร้านสัก, ร้านนวด สปา เพื่อสุขภาพ, ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ฉายภาพยนตร์ และการเล่นดนตรีในร้านอาหาร โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศ และจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการ COVID-Free Setting ก่อนเปิดให้บริการ
ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานที่กลุ่มกีฬากลางแจ้ง ที่ร่มโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก การซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท และร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด ให้เฉพาะที่จำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค และขยายเวลาเปิดให้บริการไม่เกินเวลา 21.00 น. จากเดิมเปิดบริการได้ถึง 20.00 น.
นอกจากนี้ จะเสนอปรับลดระยะเวลาในการกักตัวในสถานที่กักกันของรัฐ โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในทุกช่องทางที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งที่สอง วันที่ 6-7 ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่โดยสารมาทางเครื่องบิน และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 01- ครั้งที่สอง วันที่ 8-9
ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางช่องทางบก และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 0-1 ครั้งสองวันที่ 12-13 ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564
รวมทั้งจะเสนอให้พิจารณาแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก หรือ พื้นที่สีฟ้า โดยการกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะและความพร้อมของพื้นที่ คือการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งจังหวัด รวมถึงการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ทั้งอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ เฉพาะสถานที่ เฉพาะพื้นที่ หรือระหว่างสถานที่ ระหว่างสถานที่หรือระหว่างพื้นที่ โดยระบบการเดินทางจะต้องเป็นแบบ Bubble and Seal ที่เรียกว่า Sealed Route
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม จะต้องตอบโจทย์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม โดยต้องมีแผนเตรียมการและทรัพยากรรองรับสถานการณ์ ทั้งด้านการจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก