‘วิษณุ’ เผย พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจนุเบกษา จากนั้นจะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้ยุบ ศบค.โดยปริยาย แต่ กม.ใหม่ ให้อำนาจประกาศเคอร์ฟิว-ห้ามคนชุมนุมเพื่อสกัดโรคระบาดได้ เผย เหตุออกเป็น พ.ร.ก. เพราะเร่งด่วน หากเป็น พ.ร.บ.ต้องผ่านสภา ใช้เวลาหลายเดือน
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ว่า ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ต้องหมดไป เพราะเป็นสิ่งตั้งขึ้นตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่กฎหมายฉบับใหม่ ไม่ว่าเป็นในรูปของร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ หรือร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีหมวดที่ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เปิดช่องให้สามารถตั้งหน่วยหรือศูนย์ขึ้นมาทำงานแทน ศบค. ซึ่งกรณีของโรคโควิด รัฐบาลสามารถใช้ชื่อ ศบค. สำหรับการตั้งศูนย์ใหม่ได้ ส่วนโครงสร้างหรือองค์ประกอบของศูนย์หรือหน่วยที่จะถูกตั้งขึ้นใหม่เป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายฉบับใหม่
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กฎหมายใหม่ยังให้อำนาจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด อาทิ เรื่องวัคซีน การตั้งโรงพยาบาลสนาม เรื่องยา การห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) การห้ามคนชุมนุมหรือรวมตัวกัน การบังคับสวมหน้ากาก แต่ไม่ใช่ข้อห้ามแบบเดียวกับที่มีอยู่ในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า จากกรณีของ พ.ร.ก. ทำให้หลายคนเกิดความสับสน เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ นายวิษณุ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือ กฎหมายเพื่อจัดการและควบคุมโรคติดต่อ แต่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจชัดว่าจะทำเป็นร่าง พ.ร.บ.เสนอต่อรัฐสภาหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจล่าช้า ซึ่งระหว่างหลายเดือนตามที่ว่านั้น ทำให้ต้องมี ศบค.และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป แต่รัฐบาลเห็นว่าขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน และต้องการให้เป็นการบริหารงานด้านสาธารณสุขจึงเลือกออกเป็น พ.ร.ก.ซึ่งหลังจากร่าง พ.ร.ก.ฉบับใหม่เริ่มใช้ต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นชอบโดยเป็นการพิจารณาวาระเดียวซึ่งถ้าผ่านก็เสนอต่อวุฒิสภา และถ้าผ่านความเห็นชอบ ก็บังคับใช้ พ.ร.ก.นี้ต่อไปโดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้งแต่ถ้าสภาฯ ไม่ให้ความเห็นชอบต้องเลิกใช้ พ.ร.ก.และรัฐบาลอาจต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลอยากทำเป็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอต่อสภาและดำเนินการเหมือนกับการออก พ.ร.บ.อื่นๆ