เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่าหากใครเป็น “เสี่ยโทนี่” หรือในชื่อเรียกเดิมๆ ก่อนไปอยู่เมืองนอกเมืองนา ว่า “แม้ว” หรือ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อมาถึงวันที่ 19 กันยายนของทุกปี คงรู้สึกแค้นปนเศร้าที่ต้องรำลึกย้อนเหตุการณ์ในอดีต และสะท้อนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ย่อมเข้าใจได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน ในใจเขาก็คงมีหลายอารมณ์ปะปนกันไป เพราะสาเหตุที่ทำให้เขามีสถานะในวันนี้ก็ล้วนมาจาก “การกระทำของเขาเอง” ทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน สำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร คนเดียวกันนี้ก็จะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนไปอีกนาน นานจนกว่าเขาจะสิ้นชีวิตไปแล้วนั่นแหละ เพราะแม้จะเชื่อว่าโอกาสที่จะกลับมา “แบบเท่ๆ” อย่างที่แอบหวังในใจจะเป็นไปได้ยาก หรือเลือนรางลงไปทุกที เนื่องจากหากจะทำแบบนั้นได้ก็ต้อง “นิรโทษกรรม” ซึ่งเชื่อว่า เป็นความคิดต่อต้านในสังคมไทยส่วนใหญ่ในเรื่องนี้น่าจะ “ตกผลึก” ไปแล้ว
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อ 15 ปีที่แล้ว วันนี้ตรงกันวันเข้ายึดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องพ้นจากอำนาจ “โดยตรง” มาจนถึงขณะนี้
แน่นอนว่า การก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่ผ่านการเลือกตั้ง ย่อมต้องเรียกเสียงประณามไปทั่ว และครั้งนี้ก็ไม่ได้ยกเว้น เพราะในขณะนั้นนานาชาติ ก็ไม่ยอมรับ
แต่ขณะเดียวกัน ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ เพราะหากพิจารณากันด้านเดียวแบบ “เหมารวมๆ” ในด้านที่ว่า รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เป็นรัฐบาลของประชาชน ก็อ้างในมุมนั้นได้ เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
เพราะความหมายของประชาธิปไตยโดยแท้ย่อมไม่ใช่การซื้อเสียง การฉ้อฉล และการสร้างนโยบายแบบ “มีผลประโยชน์ทับซ้อน” การแทรกแซงองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในยุค “สามหนา” รวมไปถึงการ “ติดสินบนศาล” ที่รู้จักกันดีในกรณี “ถุงขนม” อันอื้อฉาว
สิ่งที่ต้องพิจารณากันในอีกหนึ่งเหตุผลหลักสำหรับการ “สร้างเงื่อนไข” สำหรับการรัฐประหารทุกครั้งก็คือ เรื่องการ “ทุจริต” คอร์รัปชัน การใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า “การทรยศต่อความไว้วางใจ” ของประชาชน
หากแยกเรื่องการก่อรัฐประหารที่หลายคนรังเกียจแล้ว หากโฟกัสเอาเฉพาะกรณีของรัฐบาลที่นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเวลานั้นยังมียศนำหน้าเป็น พันตำรวจโท อยู่ มีการทุจริตที่เรียกว่าเป็นการ “โกงครั้งมโหฬาร” ที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีข้อกล่าวหาว่าโกงแทบจะทุกโครงการ และมีคนในครอบครัว เครือญาติ พวกพ้อง มาร่วมโกงกันอย่างเป็นขบวนการ ที่หลายคนเรียกว่า “โกงทั้งโคตร”
ขณะที่การ “เล่นพวก” ก็มีอย่างน่าเกลียด ทั้งการแต่งตั้งคนในเครือญาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในกองบัญชาการกองทัพบก ในกระทรวงยุติธรรม สำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่นำมาสู่การ “หาคะแนนนิยม” อย่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
นี่ยังไม่นับเรื่องการ “แปรรูปรัฐวิสาหกิจ” สำคัญ ที่ทำกำไร และเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เช่น การแปรรูป ปตท. ที่มีคนได้กำไรจากการกระจายหุ้นจำนวนมหาศาล การซื้อเครื่องบินการบินไทย การทุจริตการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า)
**และที่ทำให้คนจำนวนมากทนไม่ไหวเกิดพลังการต่อต้านแบบขนานใหญ่ก็คือ ผลจากการ “ขายหุ้นชินคอร์ป” ให้กับกองทุน “เทมาเส็ก” ของสิงคโปร์ จำนวนกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทโดยเลี่ยงภาษี และต่อมา นำไปสู่การถูกพิพากษายึดทรัพย์จำนวน 46,373 ล้านบาท เมื่อปี 2553 จากนั้นก็ถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ในปี 2563
ขณะที่ในทางการเมืองที่มีการ “ซื้อยกพรรค” เพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้มีจำนวนมากพอ จนขัดขวางไม่ให้ฝ่ายค้านไม่อาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้เลยสักครั้งเดียว
ส่วนการใช้อำนาจเกินขอบเขต ในยุคนี้เกิดกรณี “ฆ่าตัดตอน” จากข้ออ้างเรื่องทำสงครามยาเสพติดเกือบ “สี่พันศพ” การ “อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร” ก็เกิดขึ้นในยุครัฐบาลนี้ รวมไปถึงกรณี “ตากใบ-กรือเซะ” ที่มีคนตายจำนวนมาก และเกิดเหตุการณ์ “ไฟใต้” ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ก็มาจากยุคของเขาที่เรียกว่า “โจรกระจอก” นั่นแหละ
นั่นเป็นยุครัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะถูกรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แม้ว่าในสายตาของนักประชาธิปไตย จะมองว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เป็นการเมืองที่ด้อยพัฒนา ที่ไม่อาจยอมรับกันได้ แต่ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลที่อ้างว่า “มาจากการเลือกตั้ง” ที่เต็มไปด้วยการฉ้อฉล มีแต่เรื่องอื้อฉาว ทั้งการเล่นพวก ทุจริตที่เรียกว่า “โกงทั้งโคตร” การใช้อำนาจเกินขอบเขต แบบนี้ ก็ไม่น่าจะเรียกว่า “ประชาธิปไตย” ได้เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน นาทีนี้สำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นนักโทษหนีคดีทุจริตมากมาย ทั้งที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลอีกหลายคดี นี่ว่ากันเฉพาะตัวเขาคนเดียว ยังไม่นับคดีต่อเนื่องเป็นช่วงต่อมาถึงยุครัฐบาลน้องสาวของเขา คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องหลบหนีคดีทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ก่อความเสียหายกับประเทศชาติมหาศาลไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ดี ผลจากการดำเนินนโยบาย “ประชานิยม” ในลักษณะที่ “สร้างนโยบายที่สร้างความประทับใจและมีผลประโยชน์ทับซ้อนไปด้วย” ทำให้ครองใจมวลชนอีกจำนวนไม่น้อยมาจนถึงทุกวันนี้ มีการสร้างเครือข่ายมวลชนในวงกว้าง แม้ว่าในปัจจุบันจะลดลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถสร้างความปั่นป่วนมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ยังเกิดม็อบที่เรียกว่า “คาร์ม็อบ” ที่หากมองแบบไม่ซับซ้อนก็คือ “ม็อบทักษิณ” นั่นแหละ ซึ่งคนนำก็คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่อีกด้านหนึ่งก็กำลังหามวลชนสำหรับพรรคการเมืองที่กำลังก่อตั้งใหม่นั่นแหละ
แต่หากมีคำถามแบบตบท้ายว่า แล้วในอนาคต นายทักษิณ ชินวัตร มีโอกาสกลับมาแบบ “เท่ๆ” ได้หรือเปล่า คำตอบแบบไม่ต้องคิดมากก็คือ หากมีความหมายว่าจะมีการนิรโทษกรรมสุดซอยให้พวกเขาพ้นความผิดจากคดีทุจริต คำตอบคือ “ไม่มีทาง” เพราะสำหรับเรื่องนี้ถือว่า “ตกผลึก” ในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ไปแล้ว
แม้ว่าพวก “ม็อบสามนิ้ว” ในยุคนี้อาจจะไม่เคยสัมผัสบรรยากาศแบบนั้น แต่รับรองว่ามวลชนที่เคยออกมาสู้ลงถนนมานับล้านต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนปี 2549 และถูกด้อยค่าว่าเป็น “สลิ่ม” แต่เชื่อว่ายังมีอีกมากที่ยังไม่ตาย ขณะที่นายทักษิณ อายุเลย 70 ปี กำลังเข้าสู่ยุคปลายแล้ว ถึงได้มั่นใจว่า น่าจะเป็น “สัมภเวสี” ถาวร แน่นอน !!