xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เยือนชัยนาทมอบนโยบายบริหารจัดการน้ำ หนึ่งในกลไกพลิกโฉมประเทศ ตั้งใจทุกพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” นำคณะลงพื้นที่ชัยนาท มอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำ เป็นหนึ่งในกลไกเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย กำชับสร้างการรับรู้ ปชช.ให้มีการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เผยตั้งใจลงให้ครบทุกพื้นที่

วันนี้ (15 ก.ย.) เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ การระบายน้ำเจ้าพระยาให้มีศักยภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวม 625 ลบ.ม./วินาที แยกเป็น ฝั่งตะวันตกมีศักยภาพการระบายน้ำ 465 ลบ.ม./วินาที และฝั่งตะวันออกมีศักยภาพการระบายน้ำ 160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคาดว่าปลายเดือนกันยายน จะมีปริมาณฝนมากขึ้น แต่ยังสามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบในภาพรวม สำหรับจังหวัดชัยนาท มีแผนงาน/โครงการภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 54 โครงการ งบประมาณ 1,334.84 ล้านบาท พื้นที่ชลประทานรับประโยชน์ 92,694 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,948 ครัวเรือน พื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 8,000 ไร่ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 8.80 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มแนวป้องกันตลิ่ง 1.95 กม.

ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีนำความห่วงใยของรัฐบาลมาฝากพี่น้องประชาชน รวมทั้งต้องการรับฟังปัญหา และนำข้อมูลในพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ พร้อมนำบทเรียนที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาครบทุกมิติทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจจะลงให้ครบทุกพื้นที่ด้วย

ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ส่วนราชการ และ ส.ส. ในพื้นที่นำประสบการณ์ ข้อมูลเดิมมาบริหารจัดการ เตรียมแผนให้พร้อม โดยเฉพาะต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า พร้อมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ ขณะเดียวกัน ก็เน้นย้ำเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำ ให้มีการระบายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องไม่เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีการวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร

นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด และพร้อมให้การสนับสนุนแผนงาน/โครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในภาพรวม เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้ตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือหลากและวางแผนป้องกันพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ณ เขื่อนเจ้าพระยา ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น