กสม.ชงข้อเสนอแนะการจัดการชุมนุมที่เหมาะสมคำนึงถึงสิทธิเด็ก เผย หารือนักสันติวิธี ชี้ ความขัดแย้งต้องแก้ไขด้วยการเปิดพื้นที่เจรจาทางการเมืองที่ปลอดภัย
วันนี้ (10 ก.ย.) น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2564 แจ้งข้อเสนอแนะในการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก รวมถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ และความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุมกรณีสามเหลี่ยมดินแดง ไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รมว.ยุติธรรม และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังจากที่ กสม.จัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง “สิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม” เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้แทนเด็กและเยาวชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน นักวิชาการและนักจิตวิทยาเข้าร่วม
ทั้งนี้ กสม. ได้ประมวลความคิดเห็นและข้อห่วงใยเรื่องความรุนแรงในสถานการณ์การชุมนุม ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน โดยพิจารณาตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม จึงมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. ควรจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันและเปิดพื้นที่ในการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
2. หน่วยงานของรัฐควรมีแนวปฏิบัติและวิธีการที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่การชุมนุม โดยจัดให้มีระบบดูแลเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ระหว่างชุมนุม หลังการชุมนุม และจัดให้มีการคัดกรองพื้นที่การชุมนุมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยติดสัญลักษณ์ให้แก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นและมีการปฏิบัติที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากมีการจับกุมเด็กต้องมีสหวิชาชีพเข้าร่วมด้วย
3. เจ้าหน้าที่รัฐควรจัดหามาตรการเชิงป้องกันที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างปลอดภัย และควรแยกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชัดเจนระหว่างผู้ก่อความรุนแรง และไม่ก่อความรุนแรง 4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลโดยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่คำนึงถึงมิติของเด็กและเยาวชน
5. รัฐบาลควรประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแล คุ้มครอง ปกป้องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดการตีตรา กลั่นแกล้ง และสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์กับผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง
นอกจากข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ในเวทีระดมความคิดเห็นยังมีข้อห่วงกังวลกรณีผู้ปกครองพาเด็กเล็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในพื้นที่การชุมนุมที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง เพราะนอกจากอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายแล้ว อาจได้รับผลกระทบจากการถูกปลุกเร้าให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งกระทบถึงพัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive Development) ของเด็กด้วย
ประธาน กสม.กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กสม.โดยคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ยังได้จัดประชุมรับฟังความเห็นจากนักวิชาการและนักกิจกรรมด้านสันติวิธีในหัวข้อ “ทางออกจากความขัดแย้งในการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง” ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ความรุนแรงในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายผู้ชุมนุม รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่อยู่รอบพื้นที่ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องมีความห่วงใยและแสวงหาทางออกร่วมกัน
“สิ่งที่สังคมคาดหวังและควรร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงคือ ‘พื้นที่ทางสังคมการเมืองที่ปลอดภัย’ ซึ่งอาจดำเนินการได้ด้วยการเปิดพื้นที่เจรจากรณีการชุมนุมที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่ายอย่างสันติ สร้างสรรค์ และเปิดใจรับฟังกันและกัน ทั้งนี้ กสม.ขอยืนยันว่า การทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้คนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมต่อไป”