xs
xsm
sm
md
lg

“กรวีร์” จี้ รมว.พณ.แจงแก้ปัญหาราคาข้าวประกันรายได้ ปรับสูตรคำนวณให้สอดคล้องความจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ภท. ลุกถาม รมว.พาณิชย์ แทนชาวนาถึงการแก้ปัญหาราคาข้าวประกันรายได้เกษตรกร ปรับสูตรการคำนวณให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ มีรายได้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่


วันนี้ (9 ก.ย.) นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ตั้งกระทู้ถามสด การแก้ปัญหาราคาข้าวประกันรายได้เกษตรกร

นายกรวีร์ กล่าวว่า ตนขอสอบถาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่ดูในเรื่องของการประกันรายได้ มองว่าอะไรคือความสำเร็จของโครงการการประกันรายได้ หากมองว่า ความสำเร็จคือการประหยัดงบประมาณ ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอาจยังไม่ใช่ ซึ่งความสำเร็จของโครงการประกันรายได้อยู่ที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น จากการขายสินค้าทางการเกษตร ได้มากเท่าไหร่

ทั้งนี้ ตนได้เปิดรับฟังปัญหาโครงการประกันรายได้ราคาข้าวในปัจจุบัน บน Facebook ส่วนตัว พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องของต้นทุนในการผลิต ทั้งราคาปุ๋ย ยา น้ำมัน ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ราคาข้าวสารที่ไปซื้อกินมีราคาสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มโครงการประกันรายได้ที่จะผลักดันเข้าสู่ในระยะที่ 3 นี้ จึงขอสอบถามรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ 3 ประเด็น คือ 1. โครงการที่กำลังจะประกาศ ระยะที่ 3 นี้ มีแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร มีการช่วยเหลือเยียวยาอย่างอื่นเพิ่มเติมในการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น ชดเชยค่าเก็บเกี่ยว ค่าพัฒนาระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อเป็นหลักประกันให้แน่ใจว่ารอบการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรที่จะถึงนี้ เกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์ มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากโครงการประกันรายได้ 2. แนวทางในการคิดคำนวณชดเชยเงินส่วนต่าง ที่มีการคิดคำนวณ คือ ราคาประกัน ลบ ราคากลาง และนำมาคูณผลผลิตโดยเฉลี่ยเป็นพื้นที่ (ไร่) จึงได้เท่ากับเงินที่เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในรอบนั้นๆ การประกันราคาข้าวหอมมะลิ (นอกพื้นที่) เฉลี่ยชาวนาจะได้ส่วนต่างอยู่ที่ 1,049.85 บาท/ไร่ เท่านั้น ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เฉลี่ยได้ส่วนต่างเพิ่ม เฉลี่ย 172.62 บาท/ไร่

ทั้งนี้ การประกันรายได้ที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และราคาอ้างอิง ซึ่งไม่มีชาวนาขายได้ตามราคาที่รัฐบาลวางไว้ มีแนวทางในการแก้ไขสูตรเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ ตามที่วางนโยบายไว้ อย่างไร

และ 3. สูตรการประกันรายได้ที่เกษตรกรต้องการ คือ ราคาประกัน ลบด้วย ราคาขายที่หน้าโรงสี จะได้เงินชดเชยส่วนต่าง หากเป็นแนวทางนี้ได้ เกษตรกรทั้งประเทศจะลืมตาอ้าปากได้ แต่ทั้งนี้ ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ระบุว่า จะติดในเรื่องของคุณภาพของข้าว ซึ่งเรื่องนี้หากเป็นไปได้ตนขอฝากให้ รมว.พาณิชย์ ไปคุม และปรับคุณภาพของรายได้ให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ ในการคำนวณการประกันรายได้ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ที่มาจากการคำนวณทั้งประเทศ ปัญหาของการคำนวณแบบนั้นคือในพื้นที่ภาคกลาง ที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชลประทาน ผลผลิตต่อปี ข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ไร่ละ 610 กก. ข้าวหอมปทุมธานี ไร่ละ 685 กก ซึ่งถือว่าต่ำกว่าความเป็นจริงกว่า 10% ทำให้ชาวนาเสียเปรียบ ซึ่งในความเป็นจริงข้าวเปลือกเจ้า จะได้ผลผลิตอยู่ที่ 800-900 กก./ไร่ ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 850-1,000 กก./ไร่

นายกรวีร์ กล่าวว่า “หากเป็นไปได้ขอให้ปรับการคำนวณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามพื้นที่ หรือแบ่งตามโซนนิง เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลผลิตใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นได้หรือไม่ ทางด้านคุณภาพข้าวที่ เกษตรกรมีการขายข้าว ทั้งไม่มีการวัดความชื้น / สิ่งเจือปน ได้ราคาตันละ 6 พันกว่าบาท แต่ราคากลางที่ประกาศอยู่ที่ 9 พันบาทเศษ และมีราคาแบบนี้ทั้งประเทศก็ไม่ต่างกัน จึงขอให้ รมว.พาณิชย์ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมการค้าภายใน ในแต่ละจังหวัดต้องมีการเข้มงวด กวดขันอย่าให้โรงสีเอาเปรียบพี่น้องเกษตรกรชาวนา ซึ่งเขาถูกการคำนวณ ด้วยสูตรที่ต่ำกว่าความเป็นจริงก็หนักพอแล้ว แต่ต้องมาเจอการเอารัดเอาเปรียบจากโรงสีอีกทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ไม่ได้”

นายกรวีร์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “การเพิ่มคุณภาพผลผลิตคุณภาพของข้าว อาจเพิ่มเงินให้กับเกษตรกร การเอาข้าวไปตาก ไร่ละ 1,000-1,500 บาท เพื่อเป็นหลักการประกันรายได้ รวมกับสิ่งที่เขาไปขายในตลาดเขาจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจริง ทั้งหมดนี้เป็นคำถาม และเป็นเสียงสะท้อนจากพี่น้องเกษตรกร ผ่านมายังเพื่อนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในการเสนอและหาแนวทางออก”


กำลังโหลดความคิดเห็น