สภาสูง มีมติผ่านร่างงบปี 65 คาดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจัดงบปี 66 แนะ รบ.จัดลำดับความสำคัญใช้เงิน ชะลอเรื่องไม่สำคัญ ดูแลสมดุลฐานะการคลัง สภาพคล่องรัฐวิสาหกิจ
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่ประชุมวุฒิสภา โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท หลังจากสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบและส่งมายังวุฒิสภาให้พิจารณา โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เข้าชี้แจงหลักการการจัดทำงบประมาณต่อที่ประชุม จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้ ส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็น บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น ส.ว.ตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางในหลายกระทรวง
นายอาคม กล่าวรายงานว่า การจัดทำงบประมาณมีหลักการและแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงรวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชน และอยู่บนพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม กระจายงบฯอย่างเป็นธรรม มีความคุ้มค่าไม่ซ้ำซ้อนและเกิดผลสัมฤทธ์ต่อประชาชน โดยจะดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ รวมทั้งระเบียบ กฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง
“ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาทุกคน ที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบ 65 นี้ และสำหรับข้อคิด ข้อเสนอแนะ และความห่วงใย รัฐบาลจะขอรับไว้ด้วยความขอบคุณและจะได้นำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้การจัดสรรงบฯมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน” นายอาคม กล่าว
ด้าน นายกูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา ส.ว. อภิปรายเสนอความเห็นไปยังรัฐบาล เพื่อเร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ว่า 1. รัฐบาลต้องเตรียมวัคซีน เข็มที่ 4 ให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 58 ล้านคน ในปี 2565 โดยรัฐบาลต้องเตรียมวัคซีนอย่างน้อย 232 ล้านโดส ปัจจุบันรัฐบาลมีสัญญาซื้อวัคซีน 130 ล้านโดส ยังขาดอีก 102 ล้านโดส ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งทำสัญญานำเข้าและประกาศความพร้อมฉีดวัคซีนในปี 2565
“ผมไม่ใช่หมอ หรือนักวิทยาศาสตร์ แต่ชำนาญบริหารความเสี่ยง ดังนั้น ต้องเตรียมวัคฉีนเข็ม 4 ไว้ เพราะโควิด-19 จะอยู่ไปอีกนาน โดยต้องเตรียมวัคซีนปี 2566 จำนวน 1 เข็ม และปี 2567 อีก 1 เข็ม 2.รัฐบาลต้อง เตรียมพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยสนับสนุนบริษัทเอกชนและสถาบันที่ทำวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อลดภาระนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และ 3.ต้องพัฒนาวัคซีนทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย” นายกูรดิสถ์ กล่าว
นายกูรดิสถ์ กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่า การเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนั้น สามารถทำได้ หากเร่งฉีดวัคซีนได้ 5-6 แสนโดสต่อวันรัฐบาลต้องแสดงภาพที่ชัดเจนว่าประชาชนมีภูมิคุ้มกันเต็มที่ในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้นักธุรกิจรายใหญ่ รายเล็กและนักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจ ขณะเดียวกันภาคครัวเรือนมีแผนใช้เงินออมด้วยความมั่นใจ จะช่วยให้การใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันนักท่องเที่ยวจะได้วางแผนกลับมาท่องเที่ยว ทำให้เกิดรายได้จากการบริการการท่องเที่ยวที่ช่วยเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และงบประมาณปี 2565 มีเสถียรภาพ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วุฒิสภา รายงานข้อสังเกตของการศึกษาต่อที่ประชุมว่า หลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยยังมีโอกาสและความท้าทาย เหมือนฟ้าหลังฝน อย่างไรก็ตาม วุฒิสภามีข้อเสนอคือการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นมีบางเกณฑ์ไม่สะท้อนถึงการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะจัดสรรงบประมาณตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพื้นที่เติบโตเศรษฐกิจมากจัดสรรให้มาก ทั้งที่ควรจัดสรรให้พื้นที่เติบโตเศรษฐกิจน้อยให้มาก รัฐบาลต้องทบทวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบ ถ่วงดุล และควบคุมการใช้งบประมาณ ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณในปี 2566 ที่ลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรสั่งการหน่วยงานให้จัดลำดับความสำคัญ และคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญ ส่วนที่ไม่สำคัญให้ชะลอ หรือเลื่อนออกไป และให้นำงบส่วนดังกล่าวจัดสรรสมทบที่งบกลางเพื่อลดภาระของการกู้เงิน หากรัฐบาลต้องกู้เงินอีกในอนาคต
“สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือ การดูแลสมดุลฐานะการคลังและสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ โดยขอให้ใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส พิจารณาความเหมาะสมว่าบางรัฐวิสาหกิจจะให้เอกชนทำต่อไปหรือไม่ และต้องเร่งรัดดูรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่องสภาพคล่อง” นายวิสุทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนที่จะลงมติ นายอาคม ในฐานะตัวแทนรัฐบาล อภิปรายต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การอภิปรายของ ส.ว. ที่กังวลต่อการหารายได้นั้น ตนขอชี้แจงว่า ปี 2565 มีข้อจำกัดการจัดงบประมาณในภาพรวม เนื่องจากมีสิ่งที่คำนึง คือ สภาพเศรษฐกิจที่ต้องคาดการณ์ล่วงหน้า 1 ปี ทั้งนี้ ยอมรับว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ที่มีโครงสร้างรายรับ จากการเก็บภาษี รายได้รัฐวิสาหกิจ รายได้ท้องถิ่น และรายได้จากส่วนราชการต่างๆ ทั้งนี้ หน่วยงานจะพิจารณาติดตามรายได้ให้เป็นงบประมาณของแผ่นดิน ส่วนที่กังวลต่อการจัดเก็บภาษีนั้น ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ จะมีการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิส จากแพลตฟอร์มต่างประเทศ ตามกฎหมายที่รัฐสภาอนุมัติ และกระทรวงได้ออกกฎกระทรวงบังคับใช้ ทั้งนี้ มีแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่เคยเก็บภาษี ลงทะเบียนกว่า 50 ราย จากที่กำหนด 100 ราย
ต่อมาเวลา 16.20 น. หลังจากที่ ส.ว.อภิปรายจนครบถ้วนทุกคนแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ด้วยคะแนน 193+7 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 0 ถือว่าที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จากนั้น นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดประชุมในเวลา 16.21 น. ทั้งนี้ ได้ใช้เวลาในการพิจารณากว่า 6 ชั่วโมง