xs
xsm
sm
md
lg

เจียดแห่งละ 2 หมื่น เงินอุดหนุนภารกิจท้องถิ่นดับไฟป่า ลง 2.3 พัน อปท.พื้นที่ป่าสงวน แบ่งเกรด 3 ระดับ ป่า 1 ไร่ - 1 แสนไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อเสนอ อนุศึกษาถ่ายโอนทรัพยากรฯ ชง “ก.ก.ถ.” ขอเจียดเงินหยิบย่อยอุดหนุนภารกิจสู้ไฟป่า ปี 2566 ให้กับ 2,317 อปท.พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แบ่งเกรด 3 ระดับ ระหว่าง 1 ไร่ - 1 แสนไร่ ระดับเล็ก พื้นที่ตั้งแต่ 1 ไร่ - 49,999 ไร่ 2,098 แห่ง ได้รวม 638,500 บาท ระดับกลาง 5 หมื่นไร่ - 1 แสนไร่ 144 แห่ง ได้รวม 1,249,000 บาท ระดับใหญ่ 1 แสนไร่ ขึ้นไป 75 แห่ง ได้งบรวม 1,865,500 บาท

วันนี้ (30 ส.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ต้นเดือนหน้า คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เตรียมพิจารณาข้อเสนอจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในภารกิจการป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางการจัดสรรงบประมาณสำหรับภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าของ อปท.

“แบ่งพื้นที่ป่าไม้ สำหรับ 2,317 อปท.ที่มีเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ต้องรับผิดชอบ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเล็ก พื้นที่ตั้งแต่ 1 ไร่ - 49,999 ไร่ จำนวน 2,098 แห่ง จะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 638,500 บาท เฉลี่ยแห่งละ 300 บาท ระดับกลาง พื้นที่ ตั้งแต่ 50,000 ไร่ - 100,000 ไร่ จำนวน 144 แห่ง ใช้งบ 1,249,000 บาท เฉลี่ยแห่งละ 8,600 บาทและระดับใหญ่ พื้นที่ตั้งแต่ 100,000 ไร่ ขึ้นไป จำนวน 75 แห่ง จะใช้งบฯ 1,865,500 บาท เฉลี่ยแห่งละ 24,000 บาท”

โดยกำหนดระดับความจำเป็นและความรุนแรงของพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ระดับ เช่น จังหวัดที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วน 10 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนปานกลาง 17 จังหวัด และจังหวัดอื่นๆ ตามที่ตรวจพบจุดความร้อน (hot spot)

ขณะที่ข้อเสนอแนวทางการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อสนับสนุนให้ใช้เกณฑ์การแบ่งระดับชั้นของพื้นที่เป็นหลัก มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามอัตราราคาต่อหน่วย (Unit cost) จำนวน 5 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมป้องกันและควบคุมไฟป่า, กิจกรรมจัดหาอุปกรณ์, กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมไฟป่า เช่น การจัดฝึกอบรมอาสาสมัครท้องถิ่นควบคุมไฟป่าให้มีความรู้ทั้งด้านทฤษฎี และการฝึกทักษะการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า

ยังรวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการป้องกันและควบคุมไฟป่า ได้แก่ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไฟป่า ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานและแนวทางการป้องกันไฟป่าในรูปแบบต่างๆ รวมถึงกิจกรรมการจัดชุดเฝ้าระวัง ลาดตระเวนและดับไฟป่าในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าสม่ำเสมอ

“เพื่อป้องกันการลักลอบเผาป่า และสามารถตรวจพบเหตุไฟป่าได้ทันท่วงที ป้องกันไม่ให้ไฟขยายวงกว้าง ลดผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยจะจัดชุดเฝ้าระวังในช่วงมกราคม-พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูที่เกิดไฟป่าสูงสุด”

คณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ ยังมีข้อเสนอว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หากมีเงินงบประมาณเหลือจ่าย เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบเพื่อขอรับการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้กับ อปท. 10 จังหวัดภาคเหนือที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แห่งละประมาณ 2-5 หมื่นบาท

“ยังขอให้ อปท. สามารถบริหารจัดการงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในภารกิจ เช่น ไฟฉาย ชุดปฐมพยาบาล/ชุดทำแผล รองเท้าบูท/รองเท้าผ้าใบสำหรับเดินป่า มีดขอ/มีดอีโต้ เครื่องเป่าลม เพื่อให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นในการใช้จ่ายงบประมาณ”

สำหรับงบประมาณปีที่ผ่านมา ก.ก.ถ. จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) สนับสนุนโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ ของ อปท.และป่าสงวนแห่งชาติตามภารกิจถ่ายโอน

พบว่า มีการจัดสรรให้ครั้งเดียวในปี 2559 ที่จัดสรรให้ อปท. 870 แห่ง 23 จังหวัด วงเงิน 63.5 ล้านบาท.


กำลังโหลดความคิดเห็น