สภาพัฒน์ รับโควิด -19 ระลอกใหม่ กระทบรายได้แรงงานไทย เต็มๆ ว่างงาน 7.3 แสน เด็กจบใหม่ 2.9 แสน ยังเตะฝุ่น! ย้ำทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง แถมแนวโน้ม “หดตัว” มากกว่ารอบก่อน เผย WFH ลูกจ้างเอกชน 29 จังหวัด รอดแค่ร้อยละ 5.5 หรือ 5.6 แสนคน จาก 10.2 ล้านคน ส่วน “อาชีพอิสระ” 7.3 ล้านคน พังยับ! พบ “หนี้ครัวเรือน” สูงกว่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน
วันนี้ (25 ส.ค. 64) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงถึงภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564 โดยพบสถานการณ์ด้านแรงงาน ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังได้รับผลกระทบหากเทียบกับช่วงเวลาปกติการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง
พบว่า ไตรมาสสอง ปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนแบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8
โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า มีการขยายตัว
ร้อยละ 5.1 5.4 และ 7.1 ตามลำดับ
ส่วนสาขาการผลิต และการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงานหดตัวร้อยละ 2.2 และ 1.4 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การจ้างงานที่หดตัวในสาขาการผลิตซึ่งใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก ขณะที่สาขาการผลิตเพื่อการส่งออกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ สาขาเครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ผลิตภัณฑ์ยางและยานยนต์
โดยเฉพาะการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของ โควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ เมษายน 2564 โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.89 คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04 และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลงร้อยละ 8.38
สภาพัฒน์ ยอมรับว่า โควิด-19 ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน กรณีที่รัฐบาลประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ตั้งแต่ เมษายน 2564 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและ มีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563
“โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ทั้งนี้ ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีเพียงร้อยละ 5.5 หรือมีจำนวน 0.56 ล้านคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น และมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบ”
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ เมษายน 2564 ทำให้ “หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น” พบว่า ไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 ต่อ GDP
“ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังจากกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงโดยการให้สินเชื่อผ่าน Online Platform”
สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.84 ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น
โดยภาครัฐ ต้องติดตามผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เดิม และการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม การออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อประคับประคองให้แรงงาน และผู้ประกอบการยังคงรักษาการจ้างงาน และการประกอบกิจการ และการปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มที่เคยท างานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่
ขณะที่สถานการณ์อื่นๆ ด้านสังคม ที่พบว่า “เพิ่มขึ้น” คดีอาญารวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.5 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 จากคดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ขณะที่สถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยถูกปรับลดให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch List ประเทศที่ต้องถูกจับตามอง เป็นต้น