เมืองไทย 360 องศา
กลายเป็นเรื่องท้าทายความรู้สึกครั้งใหม่ รวมไปถึงคำถามต่อเนื่องในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม สำหรับสำนักงานอัยการสูงสุด หนึ่งในกลไกสำคัญของ “กระบวนการยุติธรรม” นอกเหนือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลยุติธรรม หลังจากมีเสียงคัดค้านจากสังคม และบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งตำแหน่ง “อัยการระดับสูง” บางตำแหน่ง ที่มีข่าวพัวพันกับเรื่องอื้อฉาว และที่สำคัญ ยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคของอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน คือ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์
สำหรับตำแหน่งที่กลายเป็นปัญหาดังกล่าว มาจากสาเหตุการแต่งตั้งอัยการในตำแหน่งระดับอาวุโสสองราย รายแรกคือ นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ที่แม้ว่าได้มีเจตนาลาออกจากราชการแล้ว โดยอ้างว่าเพื่อลดแรงกดดันของสังคม และรักษาภาพลักษณ์ที่มีต่อสำนักงานอัยการสูงสุด หลังจากเขาใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง กรณีขับรถประมาททำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรถึงแก่ความตาย โดยก่อนหน้านั้น สำนักงานอัยการฯ มีมติแต่งตั้งให้เขาเป็นอัยการอาวุโส
อีกรายก็คือ กรณีของ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และมีโอกาสได้รับแต่งตั้งเป็นรองอัยการสูงสุด ในโอกาสต่อไปอีกด้วย โดยรายหลังนี้ มีคดีตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานขับขี่รถขณะเมาสุรา หรือของมึนเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายแก่กายจิตใจ
อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีของ นายปรเมศวร์ นั้น เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้พิพากษาคดีที่เขาถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราฯ โดยศาลพิพากษาให้จำคุก 1 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้คงจำคุก 6 เดือน และปรับสองหมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษกำหนด 2 ปี และคุมประพฤติ 1 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ในสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวน สภ.บางกรวย จังหวัดนนทบุรี แจ้งต่อ นายปรเมศวร์ ผู้ต้องหาในพฤติการณ์แห่งคดี ว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้ต้องหาขับรถเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์จำนวนสองคัน และทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บและรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย อีกทั้งผู้ต้องหามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยถูกแจ้งข้อหาขับรถขณะเมาสุราเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ และขับรถโดยประมาท ขับรถเฉี่ยวชนแล้วหลบหนี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทั้งสองกรณีดังกล่าว สำหรับอัยการที่มีตำแหน่งระดับผู้บริหารระดับสูงทั้งสองราย ได้ถูกสังคมตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในเรื่อง “มาตรการจริยธรรม” และความ “น่าสงสัย” เกี่ยวกับการสั่งคดี โดยเฉพาะในกรณีของนายเนตร นาคสุข ในกรณีที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาในคดีนี้ก็มีปรากฏหลักฐานใหม่ ทั้งในเรื่องของ “ความเร็วรถ” และ “มีสารเสพติด” ซึ่งกำลังมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่า “คดีเป็นไปอย่างล่าช้า” จนถูกตั้งข้อสงสัยตามมาอีกว่าจะเป็น “มวยล้ม” หรือไม่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สำนักงานอัยการสูงสุดขึ้นมาอีก หลังจากมีความพยายามในการเสนอเรื่องให้ “ทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง” นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เป็นผู้ตรวจการอัยการ อีกครั้ง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้ทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการแต่งตั้งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทำให้หน่วยงานอัยการถูกตั้งคำถามในเรื่องจริยธรรมและขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย โดยองค์กรนั้นเคยทำหนังสือคัดค้านมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ให้อัยการสูงสุดทบทวนคำสั่งแต่งตั้งก่อนหน้านี้ และล่าสุด เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 สำนักเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ซึ่งในหนังสือดังกล่าวมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“สำนักเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นว่า กรณีสำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายปรเมศวร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ เมื่อคราวที่ผ่านมา สำนักงานองคมนตรีได้เคยมีหนังสือขอให้ยืนยันความถูกต้องเหมาะสมในการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่ง ก่อนที่สำนักงานอัยการสูงสุด จะขอถอนเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งข้าราชการอัยการดังกล่าว ในครั้งนี้มีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องตามความประสงค์ของสำนักงานองคมนตรี จึงขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดโปรดยืนยันความถูกต้องเหมาะสมในการแต่งตั้งนายปรเมศวร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ และแจ้งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป”
ในความหมายก็คือ ในหนังสือของอัยการสูงสุดที่เสนอให้สำนักงานเลขาฯคณะรัฐมนตรี เสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งที่ผ่านมา “สำนักงานองคมนตรี” เคยมีหนังสือให้มีการ “ยืนยันความถูกต้องเหมาะสมในการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่ง” แต่ครั้งนั้นทางอัยการสูงสุดได้ขอถอนเรื่องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง และล่าสุด เมื่ออัยการสูงสุดยืนยันในหนังสือแต่งตั้งอีกครั้ง ก็ต้องให้ยืนยันถึงความถูกต้องเหมาะสมของการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวซึ่งในที่นี้ ก็คือ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ตามที่ทาง “สำนักงานองคมนตรี” แจ้งมานั่นแหละ
เอาเป็นว่า หากพิจารณากันในแง่กฎหมายตามขั้นตอนการพิจารณาแต่งตั้งเฉพาะตำแหน่งของ นายปรเมศวร์ และนายเนตร นาคสุข ก็อาจมีการพลิกแพลง อธิบายได้ แต่สำหรับการถูกวิจารณ์จากสังคมภายนอก ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะต้องถูกคัดค้าน และถูกตั้งคำถามและข้อสงสัยในเรื่อง “มาตรฐานทางจริยธรรม” กับองค์กรอัยการสูงสุด และผู้บริหารขององค์กรแห่งนี้ได้เช่นเดียวกัน เพราะหากพิจารณาจากหนังสือของสำนักเลขาฯคณะรัฐมนตรี ที่อ้างถึงหนังสือของ “สำนักงานองคมนตรี” ที่ให้อัยการสูงสุดยืนยันถึง “ความถูกต้องเหมาะสม” ในการแต่งตั้งมันก็ยิ่งทำให้คำถามมีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก !!