รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกฯขอบคุณคนไทย ช่วยอุดหนุนผลไม้ไทย มังคุดขายได้เกิน 2 หมื่นตัน ดันราคาขึ้น พาณิชย์ลุยตลาดตะวันออกกลางเพิ่มส่งออก
วันนี้ (14 ส.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ติดตามสถานการณ์ราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ชาวสวนมังคุดได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมาก ทำให้การกระจายสินค้าและการส่งออกมีปัญหา อีกทั้งปีนี้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ได้ปรับกลยุทธ์เน้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออก จนถึงวันนี้สามารถดึงมังคุดออกจากแหล่งผลิตได้กว่า 20,000 ตัน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 13-15 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่เคยต่ำกว่า 6 บาท สำหรับมังคุดเกรดคละและมังคุดเกรดคุณภาพ ราคาใกล้แตะที่กิโลกรัมละ 50 บาท ตามรายงานล่าสุดของกรมการค้าภายใน
ประกอบกับสามารถแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกขาดแคลน ปัญหาโลจิสติกส์และปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน และล้งจากภาคตะวันออกลงใต้ คลี่คลายได้ระดับหนึ่ง เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นฮับมังคุดภาคใต้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมมีเพียง 46 ล้ง ปัจจุบันมีล้งเพิ่มเป็นกว่า 200 ราย และแผงรับซื้อผลไม้กว่า 400 แผง ที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ รวมทั้งความร่วมมือกับเหล่าทัพ ภาครัฐ ภาคเอกชนในการกระจายมังคุด เช่น ผ่านระบบร้านค้าส่ง ค้าปลีก ร้านธงฟ้า เครือข่ายปั๊มน้ำมัน ช่วยกระจายได้ 1 ล้านกิโลกรัม และโครงการส่งผลไม้ฟรีผ่านไปรษณีย์ไทย คาดว่าจะช่วยได้อีก 2 ล้านกิโลกรัม สำหรับปัญหาลำใยและเงาะที่ช่วงนี้ราคาลดลง คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้เข้าไปดูแลแล้วเช่นกัน
นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า นายกฯได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันอุดหนุนผลไม้ไทย แสดงให้เห็นว่า การช่วยซื้อคนละจำนวนไม่ต้องมาก แต่เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นจำนวนมาก พอที่จะช่วยดันราคาให้สูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้ ทั้งนี้ ยังได้รับทราบรายงานจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า กำลังเร่งเปิดตลาดใหม่ด้วยโครงการจับคู่ธุรกิจเพื่อเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งผู้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจเป็นผู้ส่งออกไทยจำนวน 123 บริษัท และมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 74 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 123 คู่ ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของไทยด้วย