xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรแปลงใหญ่นับพัน “ถอนตัว” โครงการเงินกู้สู้โควิด 1.3 หมื่นล้าน หลัง กษ.คืนคลัง 4.3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามดูสถานะโครงการเงินกู้สู้โควิด “เกษตรแปลงใหญ่” สมัยใหม่ หลัง ครม.ให้ “ก.เกษตรฯ” ปรับลดงบประมาณ กว่า 4.3 พันล้าน ใน 6 หน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการ จากวงเงินเต็ม 1.3 หมื่นล้าน ส่งคืนคลัง เผยข้อมูล 6 หน่วยงาน มีเกษตรแปลงใหญ่ “ขอถอนตัว” หลังพบมีเข้าร่วมโครงการเพียง 3,381 แปลง วงเงินรวม 9,479 ล้าน พลาดเป้าเดิม ที่คาดมีแปลงใหญ่ร่วมโครงการ 5,250 แปลง

วันนี้ (6 ส.ค. 2564) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 27 ก.ค. 2564 ที่เห็นชอบตามคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อนุมัติให้ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของ “โครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด”

“ทำให้วงเงินของโครงการ ในส่วนของ “งบเงินอุดหนุน” ปรับลดลงจาก 13,878.1200 ล้านบาท เป็น 9,479.4936 ล้านบาท หรือลดลง 4,398.6264 ล้านบาท โดยเห็นควรมอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว”

สำหรับโครงการนี้ ครม. 15 ก.ย. 2563 มีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ เห็นชอบตามกรอบวงเงิน 13,904.5000 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.1 ตามบัญชีท้าย พระราชกำหนดฯ เป็นงบเงินอุดหนุน 13,878.1200 ล้านบาท และงบดำเนินงาน 26.38 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมาย แปลงใหญ่ 5,250 แปลง เกษตรกร 262,500 ราย พื้นที่ 5,003,250 ไร่ ใน 77 จังหวัด เฉพาะใน “งบอุดหนุน” แบ่งเป็น ด้านการผลิต 11,832.99 ล้านบาท ด้านการพัฒนาคุณภาพตลาด 1,544.55 ล้านบาท และ ด้านการตลาด 500.58 ล้านบาท

ต่อมาโครงการนี้ ครม. 26 ม.ค. 2564 อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียด “เพิ่ม” กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมปศุสัตว์ กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมตรวจบัญซีสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้ามาร่วมโครงการและให้กรมส่งเสริมฯ กำหนดกลไกการตรวจสอบคุณสมบัติของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ

กรมการข้าว ได้รับเงินอุดหนุนจากเงินกู้ 7,275.3643 ล้านบาท กรมหม่อนไหม ได้รับ 70.6033 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ ได้รับ 487.0034 ล้านบาท กรมประมง ได้รับ 213.2457 ล้านบาท การยางแห่งประเทศไทย ได้รับ 744.4701 ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับ 4,094.4632 ล้านบาท กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้รับ 5.25 ล้านบาท และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้รับ 2 ล้านบาท

โครงการนี้ ดำเนินการตามมติ ครม. พบว่า มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนประเภทนิติบุคคล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 (วันสิ้นสุดการขอจดทะเบียนและรายงานก่อนทบทวนโครงการ) พบว่ามีการจดทะเบียน 3,448แปลง และมีกลุ่มประสงค์ เข้าร่วม 43 แปลง ยังไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งฝ่ายบริหารโครงการฯ ระดับกระทรวง มีมติให้จดทะเบียนเพิ่มเติม ข้อมูล 17 พ.ค. 2564 ทั้งสิ้น 3,501 แปลง จากวงเงินรวม 9,802,704,710 บาท

ขณะที่ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 มีข้อมูลจาก 6 หน่วยงานข้างต้น แปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ 3,381 แปลง วงเงิน 9,479.4936 ล้านบาท พบว่า ส่วนที่เหลือเป็น “กลุ่มแปลงใหญ่ที่มีความประสงค์จะขอถอนตัว” และบางส่วนไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด

“เช่น กรมการข้าว ขอถอนตัว 72 แปลง วงเงิน 190 ล้านบาท กรมหม่อนไหม ขอถอนตัว 11 แปลง วงเงิน 30.02 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ ขอถอนตัว 8 แปลง และ การยางแห่งประเทศไทย ขอถอนตัว 2 แปลง ใน จ.บุรีรัรมย์ และ จ.ชุมพร”

รายงานจากคณะทำงานขับเคลื่อนแปลงใหญ่ แจ้งปัญหาว่า การดำเนินงานของสหกรณ์-กลุ่มเกษตรกรจะดำเนินงานผ่านทางคณะกรรมการดำเนินการ แต่การดำเนินงานของแปลงใหญ่จะต้องผ่านทางคณะกรรมการแปลงใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ด้วย

“โครงการแปลงใหญ่ในการให้เงินสนับสนุนการซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรจะต้องทำสัญญากับภาคเอกชน ดังนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ในขณะที่การดำเนินการและบริหารงานของกลุ่มสหกรณ์การเกษตร-กลุ่มเกษตรกร โดยคณะกรรมการดำเนินงาน มีกฎหมายเฉพาะที่ไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแปลงใหญ่ตามที่กำหนดไว้”

ประกอบกับตัวคณะกรรมการแปลงใหญ่เองอาจจะเป็นเป็นคนละชุดกับคณะกรรมการสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร ทรัพย์สินที่ได้รับจากเงินสนับสนุนโครงการจะต้องตกเป็นของสหกรณ์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของโครงการแปลงใหญ่และที่สำคัญการได้รับเงินสนับสนุนหรือเงินอุดหนุนที่เป็นงบประมาณ จะต้องมีการจ่ายเงินสมทบตามหลักเกณฑ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ด้วย

ต่อมา 21 ก.ค. 2564 รมว.เกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบ ให้มีการเปลี่ยนแปลง ลดกลุ่มเป้าหมายและปรับลดวงเงิน ประมาณ 60% โดยคณะกลั่นกรองฯ สอบถามถึง การดำเนินการจัดซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เหลือจะสามารถดำเนินการเสร็จตามแผน 30 ก.ย.2564 หรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ระบุว่า ดำเนินการทันเนื่องจากมีการทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) และโอนเงิน ให้กับกลุ่มแปลงใหญ่แล้ว

ขณะที่โครงการดังกล่าวนี้ กระทรวงมหาดไทย เพิ่งมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ติดตามสถานะโครงการ กรณี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา มีหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เร่งตรวจสอบการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด

“หลังพบว่า การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความล่าช้า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ที่ได้รับงบประมาณ จากเงินกู้ตามมติ ครม.14 ก.ย.2563 วงเงิน 7,373 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.87 แต่ใน 6 จังหวัด คณะกรรมการยกระดับแปลงใหญ่ ระบุตรงกันว่า “ยังไม่มีการโอนเงินอุดหนุน” ให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่แต่อย่างใด? โดยโครงการนี้ต้องเบิกจ่ายเงินภายในวันที่ 30 ก.ย. 2564”.


กำลังโหลดความคิดเห็น