“สมชัย” ชี้ คนร้อนรนเร่งแก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ใช่ 3 ป.แต่เป็น “ไพบูลย์” หวังเป็นทางรอดในสภา หวั่นรีบเร่งแบบมีนัยยะการเมือง เสี่ยงเขียนกฎหมายไม่รอบคอบ
วันนี้ (6 ส.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่า สัญญาณแห่งความร้อนรนในการรัฐธรรมนูญรายมาตรา คนที่ร้อนรนมากที่สุดในการผลักดันให้แก้บัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ กลับมิใช่ 3 ป. แต่เป็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะกระบวนการในการแก้นั้น แม้จะเร่งเพียงไรก็ไม่อาจจบในไม่กี่วัน ถึงแก้เสร็จ ก็ยังมีเรื่องการแก้กฎหมายลูก หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมตามอีกหลายมาตรา และกระบวนการพิจารณาต้องผ่านทีละสภา รวมเวลาก็อีกหลายเดือน กว่าจะถึงการเสร็จสิ้นดังกล่าว เกรงว่า อุณหภูมิทางการเมืองจะร้อนจนอาจต้องหาทางออกด้วยการยุบสภาก่อน แผนสองของกลุ่มผู้มีอำนาจจึงมีการเตรียมพรรคการเมืองใหม่ เพื่อหาทางออกให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากอีกทางหนึ่ง กรณีที่ พปชร. ตกที่นั่งเดียวกับเพื่อไทยในปี 2562
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่ นายไพบูลย์ ไม่อาจเป็นชายสามโบสถ์ คนสามพรรค จำต้องอยู่ที่เดิมและคงไม่คิดจะลง ส.ส. เขต เพราะขนาดติดป้ายหน้าตัวเองทั้งประเทศ ยังได้คะแนนแค่สี่หมื่นเศษ การลง ส.ส. เขต คงเป็นเรื่องหวังคะแนนยากจากประชาชน การแก้ให้บัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ จึงเป็นทางออกส่วนตัวของเขาอีกทางหนึ่ง ที่จะมีที่ทางในสภา เพราะหนทางเป็น ส.ว. ถูกปิด ส.ส. เขต หวังได้ยาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ จึงเป็นทางรอดทางเดียวที่เหลือ การทำงานในฐานะประธาน กมธ. แก้รัฐธรรมนูญ จึงรีบเร่งประชุมให้เสร็จใน 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ประชุมไปเมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2564 ครั้งที่ 3 วันอังคารที่ 10 สิงหาคม ครั้งที่ 4 วันพุธที่ 11 สิงหาคม และครั้งที่ 5 วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม เป็นครั้งสุดท้าย กะให้เสร็จภายในปลายสัปดาห์หน้า
“ความรีบเร่งและร้อนรนจึงมีนัยยะทางการเมือง และแฝงความไม่เรียบร้อยและเสี่ยงกับการเขียนกฎหมายสูงสุดอย่างไม่รอบคอบมากมาย แม้ผมจะไม่ใช่คนที่ทำงานทางนิติบัญญัติ แต่คงทนเห็นคนที่ทำงานดังกล่าวออกนอกลู่นอกทางได้ จึงขอใช้เวทีนี้ในการถ่ายทอดความเป็นห่วงไปยัง ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมเป็นกรรมาธิการ โดยเฉพาะคนชื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะที่เคยเป็นลูกศิษย์ที่เรียนกับผมมา ไม่อยากให้เสียชื่อถึงอาจารย์”