xs
xsm
sm
md
lg

พบลักลอบขายชุดตรวจโควิดออนไลน์ราคาแพง แนะอย่าซื้อ เผย อภ.นำมาขายชุดละไม่เกิน 200

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (แฟ้มภาพ)
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย พบลักลอบขายชุดตรวจโควิด ATK ทางออนไลน์ราคาสูง แนะอย่าซื้อ ไทยมี 19 ยี่ห้อที่ขายถูกต้อง อภ.นำมาจายไม่เกิน 200 ให้ซื้อไม่เกินคนละ 3 ชุด “นพ.ณัฐพงศ์” เผยระบบกักตัวที่บ้าน ปชช.เข้าสู่ระบบแล้ว 6 หมื่นราย ตั้งเป้าศูนย์พักคอย กทม. 1 หมื่นเตียง ยันยาฟาวิพิราเวียร์พอ

วันนี้ (2 ส.ค.) เวลา 13.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิค-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ของประชาชน ว่า ชุดตรวจ แอนติเจน และ แอนติบอดี ซึ่งนำมาใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการใช้เลือดตรวจ แต่ที่สามารถใช้ได้ คือ ชุดตรวจแอนติเจน เพราะจะใช้สารคัดหลังในการตรวจโดยขณะนี้มีชุดตรวจ Antigen Test Kit มีจำนวน 19 ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตรวจได้ โดย 17 ผลิตภัณฑ์ใช้ตรวจจากโพรงจมูก และมี 1 ชนิดตรวจได้ทั้งจมูกและน้ำลาย โดยเมื่อตรวจแล้วจะมีทั้งผลบวกและผลลบ กรณีที่ตรวจเองแล้วผลเป็นลบสามารถแปลได้ว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 และอาจจะเกิดผลลบลวงอาจจะติดเชื้อ แต่เชื้อมีจำนวนน้อย ขอให้กักตัวก่อนถ้าหากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง จากนั้นอีก 1-2 วันสามารถตรวจซ้ำได้อีก แต่ถ้าหากมีผลเป็นบวกขอให้แจ้งโรงพยาบาลศูนย์บริการของกรุงเทพฯเพื่อทำการรักษาต่อไป

“ชุดตรวจเป็นเครื่องมือแพทย์ไม่อนุญาตให้ขายออนไลน์ ตามตลาดนัดหรือในร้านสะดวกซื้อจะต้องซื้อในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ เพราะจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องคุณภาพ และจะต้องมีการอธิบายให้เข้าใจว่าเมื่อตรวจออกมาแล้วจะทำอย่างไร ขณะนี้พบว่ามีการลักลอบขายทางออนไลน์มีราคาที่ค่อนข้างสูง ถ้าหากราคาสูงจนเกินไป ขอให้อย่าซื้อ เพราะขณะนี้มี 19 ยี่ห้อแล้วและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาจะถูกลง และองค์การเภสัชกรรมได้นำมาจำหน่ายไม่เกิน 200 บาทต่อชุด ให้ซื้อได้ไม่เกินคนละ 3 ชุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงมาตรการหลังตรวจหาเชื้อโควิค-19 ด้วยชุด Antigen Test Kit แล้วพบว่าติดเชื้อ (ใน กทม.) ว่า ยืนยันว่าหากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าติดเชื้อสามารถเดินทางไปตรวจรับบริการได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ ซึ่งในระบบของทุกโรงพยาบาลมีความสามารถในการตรวจโควิด-19 ได้อย่างน้อย 132 แห่งในกรุงเทพฯ โดยเมื่อตรวจแล้วพบว่ามีผลติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากพบไม่มีอาการก็จะให้ใช้ระบบกักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)โดยขณะนี้มีประชาชน 60,000 ราย เข้าสู่ระบบดังกล่าวเต็มรูปแบบจากระบบสาธารณสุขแล้ว และตั้งเป้าหมาย 1 แสนรายใช้ระบบดังกล่าว ส่วนการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ศูนย์พักคอยการส่งตัวกทม.มี 46 แห่ง จำนวน 5,295 เตียง มีผู้ป่วยเข้าไป 4,000 รายแล้ว ตั้งเป้าหมายกทม. 68+ แห่ง จำนวน 10,000 เตียง โดยกระจายไปทุกเขต มีการดำเนินการโดยชุมชนเองอีกประมาณ 100 แห่ง ส่วนหากมีอาการมีโรงพยาบาลสนาม 14 แห่ง 7,000 กว่าเตียง Hospital มี 120 แห่ง มี 35,000 เตียง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ส่วนโรงพยาบาลหลักที่เป็นไอซียู เตียงระดับสีแดง ประมาณ4,000 เตียงรวมภาคเอกชนด้วย ยืนยันประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีอยู่อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ประชาชนที่ยังไม่ได้รับเข้าสู่ระบบบริการสามารถติดต่อลงทะเบียนผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1330 เบอร์เดียวของ สปสช.เพื่อเข้าสู่ระบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น