เดินหน้าติดตั้ง “สถานี Big Data” 5.3 พัน อบต. เน้น ตรวจอากาศ PM 2.5 กว่า 8 พันจุด หลัง NT ได้งบจากกองทุนดีอี จ้างเอกชน 190 ล้านบาท จัดสร้าง “สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ” ทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาระบบสารสนเทศ ฐานข้อมูล รวมถึงกระบวนการเฝ้าระวัง PM 2.5 เผย “ดีอี-ทส.” หวั่นทับซ้อน 8 พันจุด เร่งประสานไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ และทับซ้อนกันของจุดติดตั้งอุปกรณ์
วันนี้ (30 ก.ค. 2564) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
ให้จังหวัดอำนวยความสะดวก บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ในการดำเนินการโครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Open Data) เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในมิติต่างๆ เช่น ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ความกดอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ เป็นต้น จำนวน 8,000 จุด โดยใช้เทคโนโลยี Big Data ในการจัดเก็บและบริหารข้อมูล และเปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์
ดีอี ระบุในการดำเนินการว่า มีความจำเป็นต้องมีสถานที่สำหรับติดตั้ง อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยควรเป็นพื้นที่ชุมชน เปิดโล่ง มีแสงแดดส่องถึง และมีความปลอดภัย ซี่งเห็นว่า ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในหลายพื้นที่มีความเหมาะสมในการเป็นจุดติดตั้ง อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศชองโครงการดังกล่าว
“ขอให้จังหวัดแจ้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง ในพื้นที่เป้าหมายกว่า พิจารณาจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ ตามหลักเกณฑ์ ของ NT โดยจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการดูแลรักษาอุปกรณ์ตรวจวัด สภาพอากาศ ทาง NT เป็นผู้รับผิดชอบ”
สำหรับโครงการดังกล่าว ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาจากกองทุนพัฒนาดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในกรอบนโยบายด้าน Digital Tevhnology & infrastructure agenda รหัสโครงการ PR63023581 วงเงิน 190 ล้านบาท
โครงการนี้ มีมูลค่ากว่า 190 ล้านบาท โดยได้บริษัท คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็ม โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CSS ที่ผ่านการพิจารณาจาก NT ให้เข้าดำเนินการจัดหาและติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาระบบสารสนเทศ ฐานข้อมูล รวมถึงกระบวนการเฝ้าระวัง PM 2.5
เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ให้ทุน NT และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมประชุมหารือถึงโครงการ ในประเด็นข้อสังเกตให้ NT เร่งประสานหารือร่วมกับ ทส. เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ และการทับซ้อนกันของจุดติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลคุณภาพอากาศ จำนวน 8,000 จุด
โดยโครงการของ ทส. มีการรวมกลุ่มหน่วยงาน ที่มีโครงการตรวจวัดคุณภาพอากาศ นักวิชาการ และผู้ผลิต sensor ของประเทศไทย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีแผนการติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นละอองจำนวน 200 จุด ในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ของ กฟผ.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการ Sensor for All โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมด 1,000 จุดทั่วประเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลเครือข่ายเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ DustBoy ที่ติดตั้งทั่วประเทศกว่า 400 จุด และตั้งเป้าขยาย 2,000-3,000 จุด ทั่วประเทศในทุกตำบล เป็นต้น
โดยตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโลยี (technology sharing) เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของ sensors ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และเทคโนโลยี Big Data เพื่อรายงานผลได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ และตอบสนองต่อคนรุ่นใหม่ และให้มีการพัฒนาต่อยอด
สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในมิติต่างๆ เช่น ปริมาณฝุ่น PM 2.5 นอกจาก NT และ ทส.แล้ว
ยังมีโครงการ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข ติดตั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณ ในสถานบริการสาธารณสุขไปแล้ว 284 เครื่อง และในปี 2564 สนับสนุนอีก 500 เครื่อง เพื่อติดตั้งในสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น