xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” จี้รัฐทบทวนข้อกำหนดกระทบสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ชี้คนละส่วนกับเฟกนิวส์ที่ไม่มีตัวตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จี้รัฐทบทวนข้อกำหนดกระทบสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ชี้คนละส่วนกับเฟกนิวส์ที่ไม่มีตัวตน เตือนใช้อำนาจเกินขอบเขตอาจส่งผลสะเทือนถึงรัฐบาล

วันนี้ (29 ก.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การออกข้อกำหนดดังกล่าวย่อมมีโอกาสที่จะกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ทำงานตามจรรยาบรรณวิชาชีพโดยทั่วไป และอาจกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยสุจริตตามสิทธิเสรีภาพที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

เพราะหลังจากมีข้อกำหนดนี้ออกมาจะเห็นได้ว่า มีคนของภาครัฐหลายระดับได้มีการกระทำในเชิงข่มขู่คุกคามการแสดงความเห็นของประชาชนโดยสุจริตเกินกว่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้ภายหลังคนของภาครัฐบาลส่วนจะกลับลำว่าไม่ได้ใช้ข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาข่มขู่ หรือปิดกั้นประชาชนที่แสดงออก พฤติกรรมที่แสดงออกเช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าคนของภาครัฐจะใช้ข้อกำหนดนี้ตีความไปทางไหนก็ได้ตามอำเภอใจของตน

ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าใช้มาตรการนี้เพื่อจัดการกับข่าวปลอม หรือ Fake news น่าจะเป็นคนละประเด็นกัน เพราะกลุ่มคนหรือคนที่ทำข่าวปลอมนั้น มีเจตนาชัดเจนที่สร้างเรื่องขึ้นมาให้ดูเสมือนจริง แต่ไม่ได้เป็นความจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดผลลบต่อกลุ่มบุคคลหรือบุคคลที่ถูกกล่าวถึง และมักจะไม่แสดงตัวตนชัดเจนซึ่งรัฐบาลก็มีหน่วยงานและบุคลากรจัดการกับปัญหานี้อยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากสื่อมวลชนที่ทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพและประชาชนทั่วไปที่ใช้สิทธิเสรีภาพ แสดงความคิดเห็นตามปกติที่มีตัวตนชัดเจน ตรวจสอบได้

“ถ้าสื่อมวลชนและประชาชนทำอะไรที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้นก็ย่อมใช้สิทธิดำเนินการตามครรลองของกฎหมายได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีข้อกำหนดออกมาบังคับใช้เพิ่มเติมจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนและการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสุจริตแต่อย่างใด”

นายองอาจ กล่าวว่า เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจึงขอเสนอรัฐบาลดังนี้
1. ทบทวนข้อกำหนดที่ออกตามความใน มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
2. ในกรณีที่อยู่ระหว่างการทบทวนข้อกำหนด ขอให้ผู้รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมาย โดยพูดให้ชัดว่าเจตนาที่ออกคืออะไร จะมีการบังคับใช้แค่ไหนอย่างไร
3. ภาครัฐไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่เป็นการข่มขู่ คุกคามสื่อมวลชนที่ทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพ และประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ

“ขอฝากไปยังรัฐบาลให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน เพราะถ้ารัฐบาลหาทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนมากเท่าไหร่ก็จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลมากเท่านั้น อันจะก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน” นายองอาจ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น