“ไทยสร้างไทย” ผุดโครงการ “สร้างโอกาสให้น้อง สร้างห้องเรียนออนไลน์” ตั้งศูนย์ส่งต่อซิมเน็ต-สมาร์ทโฟนมือสอง ให้ครู-นร.ที่ขาดแคลน คิกออฟในพื้นที่สีแดง กทม.ก่อนขยายไปทั่วประเทศ หวังอนาตคเน็ตฟรี-อุปกรณ์เรียนออนไลน์ เป็นสวัสดิการพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 64 น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย และ นายสยมพร วรรณูปถัมภ์ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย จ.ขอนแก่น เป็นผู้แทนพรรคแถลงเปิดตัวโครงการ “สร้างโอกาสให้น้อง สร้างห้องเรียนออนไลน์” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งต่อซิมการ์ดพร้อมอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนมือสองให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่นักเรียนและครูที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป โดยในช่วงแรก จะดำเนินงานภายในเขตพื้นที่สีแดงของ กทม. ก่อน และจะขยายออกไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีมาตรการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อนักเรียน ครู และผู้ปกครองเป็นอย่างมาก โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานว่า หลังจากเปิดเทอมใหม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน และคาดการณ์ว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดออกจากระบบถึง 65,000 คน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่จนทำให้เกิดความยากจนเฉียบพลัน และเด็กที่หลุดออกจากระบบไปแล้ว จะกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งยากมาก การเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็ว ทำให้เป็นแรงงานที่ขาดทักษะความรู้ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ หากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบ จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 3% และหากแก้ปัญหานี้ได้ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี
“โครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นในช่วงนี้ก่อน กระทรวงศึกษาธิการเพิ่งประกาศวางแผนจัดตั้งโครงการให้ยืมอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ แต่น่าจะใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะจัดตั้งเสร็จและกระจายอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปอย่างทั่วถึง และในระยะยาว เราหวังว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรี และอุปกรณ์การเรียนออนไลน์จะกลายเป็นสวัสดิการขั้นต้นของคนไทยทุกคน บางครอบครัวต้องเติมอินเทอร์เน็ตวันละ 20 บาท บางวันไม่มีเงินพอให้เติมได้อีก พรรคไทยสร้างไทยจึงทำงานร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ เพื่อหาซิมการ์ดพร้อมอินเทอร์เน็ตมาให้แก่น้องๆ” น.ส.ธิดารัตน์ กล่าว
น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาชัดเจนมากยิ่งขึ้นในระบบการเรียนแบบออนไลน์ ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนพิเศษ 1.17 ล้านคน หรือ 18% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่ากลุ่มครอบครัวที่มีฐานะดี 4 เท่า ครอบครัวยากจนพิเศษมีรายได้เฉลี่ย 1,077 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงถึง 2,000 - 6,000 บาท ต่อปี ในช่วงนี้ นักเรียนบางคนขาดกำลังทรัพย์ในการซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ซึ่งรวมถึงค่าอินเทอร์เน็ต บางครัวเรือนต้องนำรายได้ที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดก่อนซื้ออินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนออนไลน์
ด้าน นายสยมพร กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เริ่มต้นในเขตพื้นที่สีแดงใน กทม.ในขั้นตอนต่อไป เราจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนในภาคอีสานที่มีจำนวนน้องๆ ที่ได้รับทุนจาก กสศ. มากที่สุด และเรายังมีแผนขยายไปยังภาคอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดของโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตมือสองที่รับส่งต่อ ประกอบด้วย
1. เป็นระบบที่เปิดตัวในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา
2. มีระบบหน้าจอแบบสัมผัส
3. มีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ (ควรมีสายชาร์จมาด้วย)
4. มีกล้องถ่ายรูปที่สามารถใช้งานได้
6. สามารถใช้งานแอปพลิเคชันดังนี้ได้ Line, Microsoft Team และ Zoom
และ 7. ข้อมูลถูกลบและตั้งค่าเป็นแบบตั้งต้นใหม่ และ/หรือ ลบรหัสผ่านในการใช้เครื่องให้ด้วย.