xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการในสนามบินภูมิภาคครวญไม่ได้ลดค่าเช่าตั้งแต่ เม.ย.64 ทั้งที่เจอวิกฤตโควิดหนักกว่าเดิม วอนช่วยเหลือด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ประกอบการภายในสนามบินภูมิภาค ในความดูแลของ ทย. ครวญ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 เป็นต้นมา ไม่ได้ลดค่าเช่า ทั้งที่เมื่อช่วงเกิดโควิด-19 รอบแรกและรอบสอง ในเดือน เม.ย. 63 ถึง มี.ค. 64 มีการลดค่าเช่าให้บางส่วน จนธุรกิจสามารผ่านวิกฤตมาได้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตรอบ 3, 4 มีความรุนแรงกว่า กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ วอนช่วยหาทางแก้ไขก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจต่อไม่ไหว

ผู้ประกอบการภายในสนามบินภูมิภาคในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) หลายราย เปิดเผย “ผู้จัดการออนไลน์” ว่า ตนเองเป็นผู้ประกอบการในสนามบินภายในสังกัดของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ที่ให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ใช้ประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปี 2563 ธุรกิจของผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน แต่ได้รับความอนุเคราะห์จาก ทย. ในการลดค่าเช่าให้บางส่วนตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึง มีนาคม 2564 ทำให้ธุรกิจบรรเทาความเสียหายลงได้บ้าง แต่เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ทราบจากทางสนามบินภูมิภาคและ ทย.ว่าจะไม่ลดค่าเช่าให้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป ทำให้เกิดความงุนงงและสับสนเป็นอย่างมาก ว่าทำไมตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤต COVID-19 รอบที่ 3 มีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาลดค่าเช่าให้ ทั้งนี้ ทราบว่าเพราะต้องปรับใช้เกณฑ์ค่าเช่าใหม่ของกรมธนารักษ์


วิกฤตโควิด-19 รอบที่ 3 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ผู้ใช้สนามบินภูมิภาคลดจำนวนลงอย่างมากเหลือเพียงประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ยิ่งในช่วงที่รัฐบาลประกาศมาตรการเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา สนามบินทั้งหมดแทบร้าง เที่ยวบินถูกยกเลิกเกือบทั้งหมดไม่มีผู้โดยสารเลย จึงใคร่ขอความเห็นใจจากกรมท่าอากาศยานและกรมธนารักษ์ ให้ร่วมหารือในการช่วยเหลือลดค่าเช่าอย่างน้อยเท่ากับที่เคยลดให้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป หรือถ้าเป็นไปได้น่าจะงดเก็บค่าเช่าชั่วคราว โดยขอให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤตในเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา จนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการให้สามารถอยู่รอดทำธุรกิจต่อไปได้






กำลังโหลดความคิดเห็น