xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบสัตว์ทะเลหายาก-เกยตื้นมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยปี 63 พบสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้น เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ 16 รัง แต่ก็พบขยะลอยน้ำผลจากโควิด-19 และสัตว์ทะเลเกยตื้นมากขึ้น
วันนี้ (13 ก.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยปี 2563 โดยพบว่ามีกิจกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ การใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำทิ้ง น้ำเสีย และขยะจนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้น ส่วนกิจกรรมที่มีแนวโน้มลดลงได้แก่ การขนส่งและพาณิชย์นาวี เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวทางทะเล และนาเกลือ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

สำหรับสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญมีดังนี้ ปะการัง ประเทศไทยมีแนวปะการังทั้งสิ้น 149,025 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง พบปะการังเกิดการฟอกขาวระดับปานกลางในฝั่งอ่าวไทย ส่วนฝั่งทะเลอันดามันเกิดปะการังฟอกขาวในระดับเล็กน้อย หญ้าทะเลมีเนื้อที่รวม 104,778 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ของเนื้อที่หญ้าทะเลในปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 90,397 ไร่

ส่วนสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ พบว่า มีการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้น เช่น พบการวางไข่ของเต่าตนุ เต่ากระ และเต่ามะเฟือง เพิ่มขึ้น โดยพบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ถึง 16 รัง พบโลมาและวาฬเพิ่มขึ้นเป็น 3,025 ตัว แต่ก็พบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเครื่องมือประมงและการกินขยะทะเล ซึ่งจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและความตระหนักในด้านการจัดการขยะทะเล และการทำประมงอย่างรับผิดชอบ

ขณะที่ป่าชายเลนมีพื้นที่ประมาณ 1.73 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 200,000 ไร่ เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัยช่วยในการสำรวจและเป็นผลจากนโยบายการทวงคืนผืนป่าและการฟื้นฟูป่าชายเลน ส่วนดัชนีคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่ร้อยละ 71 อยู่ในเกณฑ์ดี แต่บางพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนมีสภาพเสื่อมโทรม เช่น ปากแม่น้ำระยอง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ชายฝั่งทะเลบ้านแหลม จ.เพชรบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนและมีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น

สำหรับขยะทะเลพบว่า บริเวณปากแม่น้ำในหลายพื้นที่ เช่น บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง พบปริมาณขยะลอยน้ำเพิ่มมากกว่าปี 2562 เนื่องจากโควิด-19 ที่ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้จำกัดการเดินทางและเน้นทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้มีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบดีลิเวอรีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ในปี 2562 ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร มีชายฝั่งที่ประสบปัญหาการถูกกัดเซาะระยะทาง 794.37 กิโลเมตร สาเหตุจากการทำลายแนวป้องกันตามธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน หาดทราย และแนวปะการัง การก่อสร้างที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัดพาของตะกอนหรือการเคลื่อนที่ของคลื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น