xs
xsm
sm
md
lg

“โลกร้อน” ใกล้มหันตภัย! เร่งคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหา” ภาวะโลกร้อน”กำลังสร้างความเดือดร้อน และผลกระทบกับสิ่งต่างๆบนโลกที่เราอยู่ มีความรุนแรงถึงขั้น มนุษย์ สัตว์และพืช จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าปล่อยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ในประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ติดตามสถานการณ์ ”ปะการังฟอกขาว” ที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง ผ่านไป 1 เดือน พบว่ามีสภาพการตายเป็นจำนวนมาก

ปะการัง ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลที่พึ่งพากันกับสาหร่ายขนาดเล็ก ที่อาศัยภายในเนื้อเยื่อของปะการัง อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น และความเค็มที่หรือมลพิษต่างๆในทะเล มีผลให้ปะการัง เหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว

“โลกร้อน”ทำลายชีวิตทะเล

ดร.ธรณ์ บอกว่าตลอด 1 เดือนที่ติดตามสถานการณ์ ไม่มีการดำน้ำของนักท่องเที่ยว ไม่มีแม้แต่ชาวบ้านที่ลงไปจับสัตว์น้ำ แต่ปะการังก็ยังตาย เพราะสาเหตุที่เป็นเรื่องใหญ่มาก คือ”ภาวะโลกร้อน”

“วันนี้ผมเห็นปะการังฟอกขาว และบางส่วนกำลังตายอยู่ตรงหน้า ตายโดยมีมาตรการต่างๆ แต่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร”

มนุษย์เริ่มรับผลร้าย

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อย่าว่าแต่สัตว์ในทะเลเริ่มตาย แม้แต่สังคมโลกและคนในเมืองไทยก็เริ่มรู้สึกมาหลายปีแล้ว บางจังหวัดเช่น แม่ฮ่องสอน ลำปาง และตาก เมื่อเดือนเมษายนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บางอำเภออุณหภูมิขึ้นสูงถึง 43.5- 44.6 องศาเซลเซียส

คนที่อยู่ในกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ ก็รับรู้ได้ว่าบางช่วงเวลา อากาศร้อนขึ้นกว่าทุกปี นี่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาC


กรีนพีช องค์กรสากลที่รณรงค์การปกป้องสิ่งแวดล้อม ได้อ้างรายงานของIPCC ที่ให้ข้อมูล ที่จำเป็นต้องคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน1.5องศาเซลเซียสนั้น ดีกว่าเป้าหมายเดิมที่ยอมให้เพิ่ม 2 องศาเซลเซียส อย่างไร

1 พื้นที่เขตร้อนของโลกกำลังร้อนขึ้น ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 2 องศา คนเราจะอาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนไม่ได้เลย และประชากรกว่า 420 ล้านคนจะเผชิญกับคลื่นความร้อนอีกด้วย

2 ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภูเขาน้ำแข็งในทวีปอาร์กติก มีบางส่วนแยกตัว และมีรอยแหว่งจากการกัดเซาะของน้ำทะเล ภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้กำลังจะละลายกลายเป็นน้ำทะเล

ทวีป Arctic กำลังร้อนขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับส่วนที่เหลือของโลก ถ้า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นอีก 2 องศา มีโอกาสที่ภูเขาน้ำแข็งจะละลายภายใน 10 ปี และแม้ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศา ประชากรโลกกว่า 46 ล้านคนก็เสี่ยงที่จะประสบภัยน้ำท่วม

3 เชื้อโรคร้ายที่ถูกฝังอยู่ในน้ำแข็งจะคืนชีพ เมื่อดินเยือกแข็งละลาย เชื้อโรคที่เคยถูกแช่แข็งอยู่จะออกมาระบาด มีงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่ม
ขึ้น 2 องศาสามารถทำให้เกิดโรคระบาดกว่าครึ่งโลก

4 ปะการังจะถูกทำลาย เมื่อโลกอุ่นขึ้น 2 องศา ความร้อนจะทำอันตรายต่อปะการัง ซึ่งเป็นระบบนิเวศของสัตว์ทะเลในโลก แม้การคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศา คาดว่าจะทำลายปะการังไปถึง 9 ใน 10 ส่วน

5 สัตว์นานาชนิดและพืชเริ่มสูญพันธุ์ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 องศา จะทำให้พืช 25% ใน 80,000ชนิดและสัตว์อีกหลายสายพันธุ์เริ่มสูญพันธุ์

จำเป็นต้องกระตุ้นระดับโลก

ประจักษ์พยานและการวิเคราะห์แนวโน้มดังกล่าว จึงเกิดกลยุทธ์เชิงรุก โดยอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ( United Nation Framework Conventional on Climate Change)

นี่เป็นการระดมพลังเพื่อป้องกัน และหาทางออกสำหรับเป้าหมายที่ท้าทายครั้งใหญ่ โดยการรณรงค์ระดับโลก “Race to ZERO” นำขบวนโดยผู้นำระดับโลกจากทุกวงการ เพื่อกระตุ้น ให้มีนโยบายและกิจกรรมเพื่อผลักดันการหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ จากภาคี 733 เมือง 3067 องค์กรธุรกิจ 173 สถาบันการเงิน 624 สถานการศึกษา 37 โรงพยาบาล/สาธารณสุข ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์สู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์


BCORP ร่วมผลักดันสู่Net Zero

กลุ่ม BCORP ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจกว่า 3,000 ราย ใน 60 ประเทศ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจที่มีคุณค่าต่อโลก โดยผ่านระบบการประเมินมาตรฐานการบริหารที่คำนึงถึงผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้กว่า 700 องค์กร ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเข้าสู่เป้าหมาย Net to Zero คือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 ร่วมมือกันปกป้องผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น โดยมีการจัด BCORP Global Climate Summit วันที่ 29 มิถุนายน- 1 กรกฎาคม เป็นการประชุมทางออนไลน์ เพื่อระดมความคิดของภาคธุรกิจจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความก้าวหน้าสู่การประชุมภาคีตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่26 (COP 26) ซึ่งจะจัดที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2564

สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารฺ ฺBCorp Thailand ได้เชิญทุกภาคส่วนในสังคมไทย เข้าสู่ลู่วิ่งของสนามความร่วมมือกัน เพื่อปกป้องความ ยุติธรรมให้แก่สภาพภูมิอากาศ( Climate Justice ) เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบอันเลวร้าย จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ขอให้เริ่มต้นที่การร่วมเป็น เครือข่ายกับฺ B Corp Climate Collective ซึ่งเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญ ของภาครัฐ เอกชน และสังคม ที่จะเร่งต่้านสภาพย่ำแย่ของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และปกป้องผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น

การร่วมเป็นเครือข่าย จะได้ให้ความช่วยเหลือ ข้อมูล กรณีศึกษา แนว ปฏิบัติ แหล่งทุนสนับสนุน เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ก็ต้องเปลี่ยนแปลง นโยบาย เทคโนโลยีการผลิต และพฤติกรรมการบริโภค ที่ส่งผลให้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนถึงระดับสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อลดโลกร้อน

ทั้งนี้มี 4 ประเด็นสำคัญเพื่อการขับเคลื่อน”องค์กรรักษ์โลก”

1.ร่วมประกาศภาวะเร่งด่วนสภาพอากาศ (Declare Climate Emergency) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตระหนักรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภาวะโลกร้อน มีอยู่จริง และมาตรการที่ใช้อยู่ ยังไม่เพียงพอ

2.ประกาศเจตนารมณ์(Commit to NET ZERO 2030) ให้คำมั่นสัญญา ที่จะมุ่งมั่นจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 50% จนถึงขั้นสุทธิเป็นศูนย์ ( Net Zero) ภายในปี 2030

3.วัดผลการปล่อยก๊าซคาร์บอน ( Measure ํYour Carbon Footprint) วัดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการดำเนินธุรกิจของตนเอง เพื่อการรับรู้และเตรียมหาวิธีการแก้ไขเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซ

4.ลดการปล่อยคาร์บอน ( Reduce Your Cabon Emission) เมื่อตระหนักถึงความสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว เราสามารถลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาได้อย่างไร


ข้อคิด…

มีสัญญาณที่ดีของสังคมโลก ที่ตระหนักรู้ความจำเป็นในการเข้าสู่วิ่งการรณรงค์(Race to Zero) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero)ภายในปี 2030 เพื่อคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นการกู้ภัยโลกของเรา ที่ไม่มีโลกสำรองอื่นใด


ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าประเทศใหญ่หรือเล็ก คนรวยหรือคนจน ก็ไม่มีใครหลีกหนีจากสถานการณ์โลกร้อนนี้ไปได้

การประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรชั้นนำระดับโลกและในประเทศไทย เช่น กลุ่ม เอสซีจี ซีพี ปตท. ก็ล้วนไปสู่แนวทางนี้

สอดคล้องกับวิธีคิดใหม่ที่เห็นปัญหาผลกระทบจาก สภาวะภูมิอากาศ”โลกป่วน”เป็น”ภาวะฉุกเฉิน เร่งด่วน”ที่ต้องรีบปรับกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากร ที่ไม่ซ้ำเติมสิ่งแวดล้อม ก่อนจะสายเกินแก้ ขณะเดียวกันภาวะที่เรียกว่า Climate Change ก็เริ่ม ใช้คำในมิติใหม่ว่าClimate Justice คือคิดถึงความยุติธรรมต่อสภาพภูมิอากาศ เพราะ”ผล”ที่เกิดขึ้นมาจากการ”ก่อเหตุ”ของการผลิตและการบริโภค ของธุรกิจและคนที่ขาดความรับผิดชอบ

เราสามารถเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางความร่วมมือ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบของโลกใบนี้ อย่างน้อยเราจะไม่เลือกเป็น”ส่วนหนึ่งของปัญหา” แต่เราจะเลือกเป็น”ส่วนหนึ่งของทางออก” ที่จะนำไปสู่การ ชลอ ยับยั้ง และร่วมแก้ไข วิกฤตการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น


suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น