โฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบกรอบเจรจาการอุดหนุนประมง ในการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ย้ำ! ไม่อุดหนุนประมงผิดกฎหมาย
วันนี้ (13 ก.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบกรอบเจรจาของไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ซึ่งจะมีการประชุมผ่านระบบทางไกล ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยสาระสำคัญของกรอบเจรจา ประกอบด้วย
1. ห้ามให้การอุดหนุนการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)
2. ให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนแก่ภาคประมงได้ต่อไปหรือไม่
3. ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment : SDT) แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย
โดยฝ่ายไทยจะผลักดันให้การเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง หาข้อสรุปในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 ที่จะจัดประชุมระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งร่างความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง มีสาระสำคัญประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
1. ห้ามการอุดหนุนประมงที่ให้แก่เรือประมงหรือผู้ประกอบการประมงหลังจาก ถูกตัดสินว่าทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
2. ห้ามให้การอุดหนุนประมงในพื้นที่ที่ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอและไม่อยู่ในระดับที่ยั่งยืน (Overfished Stocks)
3. ห้ามให้การอุดหนุนประเภทที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพ (Overcapacity) หรือการทำประมงที่เกินขนาด (Overfishing) เช่น การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเครื่องมือทำประมง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จนทำให้สามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่าปกติ
4. ประเด็นอื่นๆ เช่น การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (SDT) ไปจากข้อ 1-3 โดยยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงไทย) เช่น ยังคงให้การอุดหนุนแก่ประมงที่มีรายได้ต่ำ ขาดแคลนทรัพยากร ต่อไปได้อีก 2 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การจัดทำความตกลงนี้ สอดคล้องกับการดำเนินการและท่าทีของไทยที่มีการปฏิรูปกฎหมายด้านการประมงตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการผลักดันประเด็นสำคัญของไทยในการเจรจาจัดทำความตกลงฯ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม