xs
xsm
sm
md
lg

กลาโหม ปรับงบเพิ่ม รวมกว่า 760 ล้าน สร้างอาคารหรู 16 ชั้น 4 อาคาร กว่า 1,148 ห้อง รองรับกำลังพล “ศรภ.บก.ทท.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลาโหม ปรับงบเพิ่มอีก 475 ล้าน ผุดโครงการสร้างอาคารหรู 16 ชั้น 4 อาคาร กว่า 1,148 ห้อง จากวงเงินเต็มงบผูกพัน 3 ปี 64-66 กว่า 760 ล้าน รองรับกำลังพล “ศรภ.บก.ทท.” ขาดแคลนที่พักอาศัย จ่อสร้างย่านรามอินทรา พร้อมปรับงบฯ “ยกเลิก” โครงการประชาชื่น 475.3 ล้าน ไปสมทบ “โครงการบ้านพักทหาร ทุ่งสีกัน 3/4”

วันนี้ (9 ก.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ กระทรวงกลาโหม เปลี่ยนแปลงรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โครงการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พื้นที่ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) โดยเพิ่มวงเงินอีกจำนวน 475 ล้านบาท จากเดิมวงเงิน 265 ล้านบาท เป็นวงเงิน 740 ล้านบาท ระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2566

โครงการดังกล่าว อยู่ในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ผลผลิตการดำเนินสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ งบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นการเบิกจ่ายงบปี 64 จำนวน 53 ล้านบาท และผูกพันปี 65-66 จำนวน 687 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ครม.เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 64 เห็นชอบให้ขยายขนาดโครงการนี้ เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหากำลังพลขาดแคลนที่พักอาศัยของ บก.ทท. แต่ให้ยกเลิกโครงการเดิมที่จะก่อสร้างในพื้นที่ประชาชื่น วงเงิน 475.3 ล้านบาท และโอนงบประมาณส่วนหนึ่ง วงเงิน 79.9 ล้านบาท ไปสมทบโครงการก่อสร้างบ้านพักทหาร ทุ่งสีกัน 3 และ 4

ซึ่งโครงการนี้ จะดำเนินการโดยสำนักยุทธโยธาทหาร โครงการจะตั้งอยู่ที่ ถ.รามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ บางเขน กทม. ลักษณะที่อยู่อาศัยรวม จำนวน 1,148 ห้อง ขนาดพื้นที่ 28-3-3.5.85 ไร่ ประกอบด้วย อาคารขนาดความสูง 16 ชั้น จำนวน 4 อาคาร

ขณะที่โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบในหลักการการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติให้ สำนักยุทธโยธาทหาร ปฏิบัติตามและติดตามตรวจสอบอย่างเคร่งครัด

ในคราวเดียวกัน ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 451.36 ล้านบาท ให้กองทัพเรือดำเนินโครงการนำสายไฟลงใต้ดินเพื่อส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร

สำหรับงานจ้างนำสายไฟลงใต้ดิน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ปากทางเข้าสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-แยกวงเวียนอู่ตะเภา ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร 2. แยกวงเวียนอู่ตะเภา-หน้าอาคารจอดรถอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ระยะทาง 1.0 กิโลเมตร และ 3. แยกอู่ราชนาวีมหิดล-ท่าเรือจุกเสม็ด ระยะทาง 2.0 กิโลเมตร

โดยเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการติดตั้งสายไฟฟ้า จากระบบเดินอากาศ (ปักเสาพาดสาย) เป็นแบบร้อยท่อฝังดิน ในพื้นที่ของกองทัพเรือ บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ ตามแผนแม่บทโครงการปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารในพื้นที่สัตหีบเป็นระบบท่อร้อยสาย จำนวน 8 เส้นทาง

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายตามระยะเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น