xs
xsm
sm
md
lg

พลังท้องถิ่นไทย แนะผันเงินกู้ให้ท้องถิ่นแก้โควิด หลังส่วนกลางเบิกจ่ายช้า ไม่เป็นตามเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โกวิทย์ พวงงาม” เสนอรัฐบาลผันเงินกู้ให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาโควิด หลังพบปัญหาส่วนกลางเบิกจ่ายล่าช้า ไม่เป็นตามเป้า

วันนี้ (9 ก.ค.) นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไทย ในฐานะรองประธานคณะ กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กมธ. แถลงข่าว กรณีข้อเสนอผันเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ให้จังหวัดและท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบใน 3 แผนงาน ได้แก่
1. แผนงานสนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณะ เพื่อจัดหาวัคซีน ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางด้านการแพทย์ และค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 30,000 ล้านบาท
2. แผนงานการช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชย ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการเยียวยาผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อย เพื่อรักษาการจ้างงาน จำนวน 300,000 ล้านบาท
3. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรักษาระดับการจ้างงานและกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 170,000 ล้านบาท

ดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาล กระทรวงการคลัง และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผันเงินกู้ไปให้จังหวัด โดยให้ ศบค. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ช่วยเยียวยาและแก้ไขปัญหาประชาชน กลุ่มอาชีพ และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แทน เนื่องจากการบริหารจัดการเงินกู้ที่ผ่านมาในปี 2563 ที่ส.ส.ได้อนุมัติเงินกู้ไป 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อไปช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยประชาชนกลุ่มอาชีพและกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นนั้น การบริหารจัดการทั้งหมดส่วนใหญ่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และยังมีปัญหาการบริหารจัดการ ทั้งการอนุมัติโครงการที่รวมศูนย์อำนาจโดยเฉพาะสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้การอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงเสนอให้รัฐบาล ศบค.และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการใหม่ โดยผันเงินไปให้จังหวัดที่มีคณะกรรมการ ศบค.เป็นผู้บริหารจัดการจังหวัดละ 1,000 ล้าน รวม 76 จังหวัด เป็นเงิน 76.000 ล้านบาท และให้ ศบค.จังหวัด บริหารจัดการโดยจัดทำแผนงาน โครงการการใช้จ่าย ทั้งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งจัดทำข้อมูลการฉีดวัคซีน การจัดทำข้อมูลกลุ่มเสี่ยง แผนการคัดกรองการเฝ้าระวัง และจัดทำข้อมูลการช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องช่วยเหลือ

นอกจากนี้ การผันเงินให้กับ อปท. 7,500 แห่ง ท้องถิ่นละ 30 ล้านบาท ใช้เงิน 225,000 ล้านบาท เพื่อให้ อปท.ไปจัดทำแผนงาน โครงการ โดยใช้ฐานข้อมูลการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งวางแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้ชัดเจน

สำหรับแนวทางการทำงานนั้นให้จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในนามของ ศบค.จังหวัด และ อปท. บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้มีข้อมูลและเป้าหมายในการช่วยเหลือเยียวยาประซาชน กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการที่ชัดเจน ซึ่งเห็นว่าเงินที่ผันไปไม่ถึง 300,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีเงินเหลือเพียงพอที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาประชาชนจากโรคโควิด-19 มีประสิทธิภาพดีกว่า ส่วนรัฐบาล และ ศบค. รวมทั้ง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ในการวางนโยบาย ติดตาม ตรวจสอบความโปร่งใส่ และประเมินผลให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่วางไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น