xs
xsm
sm
md
lg

พรรคกล้า จี้นายกฯ ขยายมาตรการช่วยเหลือครอบคลุมผู้ประกอบการในหัวเมืองใหญ่ที่เดือดร้อนไม่น้อยกว่า 6 จว.ที่รัฐประกาศชดเชย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองหัวหน้าพรรคกล้า จี้นายกรัฐมนตรีขยายมาตรการช่วยเหลือครอบคลุมผู้ประกอบการในหัวเมืองใหญ่ ที่เดือดร้อนไม่น้อยกว่า 6 จังหวัดที่รัฐประกาศชดเชย พร้อมเสนอแผนเยียวยาละเอียดยิบแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันนี้ (7 ก.ค.) นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก พร้อมด้วย นางสาวภรณี วัฒนโชติ รองโฆษกพรรค เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในวงกว้าง และด้วยมาตรการที่ครอบคลุม โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง

โดย นายวรวุฒิ ได้ระบุถึงข้อเสนอในหนังสือ ว่า สืบเนื่องจากการประกาศราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 มีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน รวมกลุ่มสังสรรค์ งานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศดังกล่าว ในวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ด้วยหลักการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้างกิจการก่อสร้างและร้านอาหารใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน ส่วนนายจ้างในระบบประกันสังคมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคน กรณีผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ช่วยเหลือจ่ายผ่านแอปฯ ถุงเงิน ในโครงการคนละครึ่ง รายละ 3,000 บาท

ทั้งนี้ พรรคกล้าได้ทำการสำรวจสถานการณ์ผลกระทบและความต้องการความช่วยเหลือจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงบุคคลในอาชีพที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ทำให้สามารถสรุปความจำเป็นในการขยายมาตรการเยียวยาให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนให้มากขึ้น และครอบคลุมทั่วประเทศ จึงขอเสนอแนวทางเพื่อช่วยเหลือดังนี้

1) ขยายเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ จากประกาศฯ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และปทุมธานี ให้ครอบคลุมจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในระดับเดียวกัน เช่น พัทยา ภูเก็ต สงขลา หาดใหญ่ สมุย เป็นต้น นอกจากนี้ ควรขยายวงเงินช่วยเหลือจาก 2,000 บาท นาน 1 เดือน เป็น 5,000 บาท นาน 3 เดือน
2) เพิ่มการเข้าถึงเงินกู้ในระบบ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจสำหรับสภาวะวิกฤตของผู้ประกอบการขนาด Micro ที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คน โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ และพิจารณาการให้สินเชื่อในรายที่เป็นหนี้เสีย (NPL) อันเกิดมาจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด
3) เยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ให้บริการในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานตาม
ประเพณี งานรื่นเริง ทั้งห่วงโซ่ เช่น ผู้จัดการการจัดงาน ผู้วางแผนงาน ช่างแต่งหน้า นักร้องนักดนตรี ผู้ให้บริการเช่าชุด ช่างจัดดอกไม้ ผู้ให้บริการเครื่องเสียงและแสงสว่าง เป็นต้น ด้วยเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านอาหารและลูกจ้างร้านอาหาร
4) รัฐฯออกสัดส่วนเงินประกันสังคมให้เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน และรักษาสภาพการประกันตนไม่ให้หลุดออกจากระบบ
5) ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ลง 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชน
6) กำกับการเรียกเก็บค่า GP ที่ร้านอาหารจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการส่งอาหาร ที่ไม่เกิน 15% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถเปิดจำหน่ายให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้านได้ตามปกติและต้องปรับรูปแบบการให้บริการด้วยการส่งอาหารแทน นอกจากนี้ ยกเลิกการกำหนดขั้นต่ำของการสั่งซื้ออาหารในแต่ละครั้ง เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสั่งอาหาร ในขณะกักตัวอยู่ที่พักอาศัยเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด และ
7) เริ่มใช้มาตรการวัคซีนพาสปอร์ตภายในประเทศ อนุญาตให้มีการจัดงานด้วยมาตรการ
ตรวจสอบการได้รับวัคซีนทั้งผู้ให้บริการในงานและผู้เข้าร่วมงาน เพื่อนำผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกลับเข้าระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รองหัวหน้าพรรคกล้า ยังกล่าวย้ำด้วยว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการจ้างงานในประเทศ และเป็นตัวแปรสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด รัฐยังมีความจำเป็นต้องมีแผนเยียวยา เพื่อพยุงและฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านมาตรการผ่อนปรนทางภาษีและสินเชื่อ ดังนี้ 1) งดเว้นการเรียกเก็บภาษีป้าย ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ที่ระบุว่า หากไม่ได้ประกอบกิจการแต่ยังมีป้ายโฆษณาให้เห็นอยู่ เจ้าหน้าที่จะต้องทำการจัดเก็บภาษีตามหน้าที่ 2) ค่าธรรมเนียมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ. สาธารณสุข เช่น ร้านเสริมสวย ร้านขายยาฆ่าหญ้า ร้านซ่อมรถ ฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องหยุด หรือ ปิดกิจการชั่วคราว เพื่อทำตามมาตรการรัฐ

3) นโยบายคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำส่ง โดยคำนวณคืนจากยอดนำส่งภาษีของผู้ประกอบการแต่ละราย ร้อยละ 50 เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการแต่ละราย โดยเร็ว 4) การลด ยกเว้น หรือยืดระยะเวลาการจ่ายชำระ ภาษีเงินรายได้นิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) เพื่อช่วยรักษาเงินทุนหมุนเวียนในสภาวะวิกฤตให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาสภาพคล่องได้มากขึ้น 5) เงินกู้ยืมระยะยาวเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนกิจการในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถดำรงกิจการต่อได้ โดยใช้ข้อมูลประวัติการชำระภาษีจากกรมสรรพกรร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาให้สินเชื่อด้วย ผ่านธนาคาร SME Bank เป็นสินเชื่อแบบปลอดดอกเบี้ยในช่วงวิกฤตโควิด-19 และปรับเป็นดอกเบี้ยขั้นต่ำหลังจากสภาวะการขาดทุนสะสมลดลง เพื่อลดอัตราการปิดกิจการอย่างถาวรของผู้ประกอบการรายย่อย และ 6) สินเชื่อระยะสั้นเพื่อกลับมาเปิดกิจการ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมพาศ กล่าวภายหลังการรับเรื่องว่า จะเร่งนำข้อเสนอดังกล่าวนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น