ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร สนับสนุนให้อำนาจอธิบดีสรรพากรแลกเปลี่ยนข้อมูลความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน และความตกลงเรื่องอื่นๆ ที่รัฐบาลไทยเข้าผูกพันเป็นคู่สัญญา
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 8 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 เรื่องด่วนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ( ฉบับที่...) พ.ศ. ... ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายพร้อมให้ข้อคิดเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากร 2 เรื่องด้วยกัน ประการแรก ให้อำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Taxation Agreements : DTAs) ซึ่งปัจจุบันมีความตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศจำนวน 60 ประเทศ และ 1 สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศ และ ประการที่สอง ให้อำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลกับความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลไทยได้เข้าผูกพันเป็นคู่สัญญา
การให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว เป็นการทำให้การบริหารงานมีความชัดเจนทางกฎหมายมากขึ้น เพราะแต่เดิมอธิบดีกรมสรรพากรใช้อำนาจบริหารทั่วไปในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เมื่อได้มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ทำให้อำนาจในการใช้กฎหมายของอธิบดีมีความชอบธรรมทางกฎหมายมากขึ้น เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่การใช้อำนาจรัฐต้องมีกฎหมายให้อำนาจชัดเจน และนอกจากจะมีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่มีอยู่แล้ว ยังเปิดช่องให้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น ความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in TAX Matters : MAC) ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 และรวมทั้งความตกลงอื่นๆ ที่อาจจะมีในอนาคต
ดร.สถิตย์ ได้อภิปรายเพิ่มเติมด้วยว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศนั้นอาจกระทบถึงสิทธิ์ของข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องให้ความระมัดระวัง เพราะโดยหลักทั่วไปข้อมูลส่วนบุคคลย่อมเป็นความลับ และต้องคำนึงถึงกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลจึงต้องเคร่งครัดในการดำเนินการ
ระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะประกาศกำหนดตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะต้องคำนึงถึงหลักคิดที่ว่า การให้ข้อมูลใดๆ กับต่างประเทศ ควรเป็นไปเท่าที่มีความจำเป็น เป็นการให้ความร่วมมือในลักษณะสงวนท่าที ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปของนานาประเทศ กล่าวคือ ถึงแม้จะให้ความร่วมมือกับต่างประเทศอื่นก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันก็จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการก็จำเป็นต้องคำนึงถึงการแสวงหาข้อมูลและวิธีการ ในการที่จะได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้การใช้อำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลก็ดี การให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลก็ดี จะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของไทยในที่สุด