xs
xsm
sm
md
lg

คนละครึ่งเป็นเหตุสังเกตได้ แม่ค้าออนไลน์ขายดีจัด ถูกเรียกเก็บภาษีปี 63 กว่า 9 หมื่นบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม่ค้าขายอาหารทะเลออนไลน์ ที่ขอนแก่น โวย อ้างคนละครึ่งเป็นเหตุสังเกตได้ ถูกหนังสือจากกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี หอบสเตทเมนต์ย้อนหลัง 1 ปี หนาปึ๊ก พบโดนไปกว่า 9 หมื่นบาท อีกด้านที่หลายคนอาจไม่รู้หรือรู้แล้วลืม สรรพากรใช้ “ภาษีอีเพย์เมนต์” มาตั้งแต่ปี 2562

วันนี้ (29 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่ค้าขายอาหารทะเลออนไลน์ในจังหวัดขอนแก่น โพสต์ข้อความระบุว่า “คนละครึ่งเป็นเหตุสังเกตได้ พบผู้ร่วมชะตากรรม ณ ที่ว่าการอำเภออีกเพียบ บางร้านผู้เฒ่าผู้แก่มาแบบงงๆ อิหยังวะ ส่งจดหมายมาบ้าน เพื่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเฉย...หนาวเลยตรู #พบกันหน้าอำเภอ #คนละครึ่ง_เราชนะ_เรารักกัน_ม33 ทำให้คนหลายคนมาเจอกัน โพดโพ (อะไรจะขนาดนั้น) สเตทเมนต์ย้อนหลัง 1 ปี”

สืบเนื่องมาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว ได้รับหนังสือจากกรมสรรพากร ระบุว่า “กรมสรรพากรพบข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2563 ท่านมีเงินได้จากการประกอบธุรกิจ ซึ่งท่านมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 เฉพาะที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 หากท่านยื่นแบบแสดงรายการภาษีแล้ว กรมสรรพากรขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้”

ภายหลังผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้แก้ไขข้อความ ระบุว่า “แนะนำสำหรับแม่ค้าขายของออนไลน์ และแม่ค้าทุกประเภท หากคุณมีรายได้ ให้เข้าปรึกษาเพื่อหาวิธีชำระภาษีให้ถูกต้อง และภายในกำหนด จะได้ไม่มีเบี้ยปรับ หากมีรายได้เกินต้องเสียภาษีตามกำหนด โพดโพ (อะไรจะขนาดนั้น) สเตทเมนต์ย้อนหลัง 1 ปี”

ต่อมาเจ้าตัวโพสต์ข้อความระบุว่า “ขอทีมปรึกษาเรื่องเสียภาษีด้วยค่า โดนภาษีปี 63 ยอดที่ต้องเสียทั้งหมด 92,257 บาท ต้องทำยังไงดี ใครจะมีจ่ายขนาดนั้น” ก่อนที่จะโพสต์ข้อความระบุว่า “ตอนนี้เครียดระดับ พัน++ จิตตกระดับล้าน++ ปวดหัวจะระเบิด มีทักมาถามหลังไมค์เยอะแยะมากมาย จะค่อยๆ ทะยอยตอบนะคะ #รู้เท่าทัน_จะได้ไม่พลาดเหมือนเรา”

อนึ่ง ปัจจุบันกรมสรรพากรได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือที่เรียกว่า “ภาษีอีเพย์เมนต์” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา สาระสำคัญคือ ให้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมไปถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ เช่น e-Wallet รายงานธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขให้กรมสรรพากรทราบ ได้แก่ ฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ ฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป โดยมียอดรวมทั้งปี 2 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบข้อมูล โดยให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมครั้งแรกต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 หากพบว่ามีผู้หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี จะมีหนังสือแจ้งให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น