xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์สามกีบลง “พี่ตูน” ไม่ออกมา call out ช่วยคนบันเทิง “อัยการ” โต้ “หมอบุญ” ตรวจสัญญาซื้อวัคซีนช้า ไม่จริง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ขอบคุณภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
“พี่ตูน” เจอจนได้ สามกีบทัวร์ลงไม่ไว้หน้า อ้างไม่ออกมาช่วย นักดนตรีคนบันเทิงที่เดือดร้อน “อัยการ” โต้ ข้อกล่าวหา “หมอบุญ” ไม่มีมูล เพราะไม่เคยมีหน่วยงาน หรือองค์กรใด ส่งร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” มาให้ตรวจ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 ก.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น “แนวร่วมสามกีบอาละวาด “พี่ตูน” อ้างไม่ออกมา call out แต่เอาเงินไปให้ รบ.ลุงตู่ !! ทวงบุญคุณเคยวิ่งตามช่วย รพ.!?”

โดยเนื้อหาระบุว่า จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (1 กรกฎาคม 2564) สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย นำโดย ลูกเต๋า นนทเดช บูรณะสิทธิพร เจ้าของร้าน The Rock Pub - Bangkok’s House Of Rock นายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย และศิลปินชื่อดัง อาทิ Slot Machine, Tattoo colour, Cocktail, Apartment Khunpa ฯลฯ ได้เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการพิจารณาร่วมกันหาทางออก กรณีการขอมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมี ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล มารับจดหมายดังกล่าว

ภาพ ตูน บอดี้สแลม ขณะวิ่งรณรงค์รับบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาล จากแฟ้ม
โดยทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนฯ ยืนยันในข้อเรียกร้อง 8 ข้อคือ

1. ขอให้ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม

2. ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ได้กลับมาเปิดบริการและสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการและอาชีพได้อีกครั้ง

3. ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้

4. ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพ โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค

5. พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด

6. ให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ต่อผู้เดือดร้อนตั้งแต่การออกคำสั่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563

7. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน หรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะในกระบวนการออกมาตรการต่างๆ

8. เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

ภาพ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะออกมารับข้อเรียกร้องคนบันเทิง จากแฟ้ม
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวหลังรับหนังสือ ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทุกรอบ และเป็นอาชีพที่ค่อนข้างหนักกว่าคนอื่น เพราะถูกปิดก่อนแต่เปิดทีหลัง และการประกอบอาชีพอิสระบางครั้งไม่ได้อยู่ในระบบจึงเข้าไม่ถึงการเยียวยา ดังนั้น การที่เขากลั้นหายใจนานกว่าคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ

จากนั้นได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก สำหรับกรณีของ นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม เมื่อชาวเน็ตได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในอินสตราแกรมของนักร้องหนุ่ม ถึงกรณีที่ไม่ยอมออกมา call out ว่า

“พี่ตูนเหมือนอยู่คนละโลกกันเลยนะค่ะ ตอนที่พี่วิ่ง….เคยวิ่งตาม แม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่พี่ หวังว่า สักวันพี่จะใช้ชื่อเสียงเพื่อประชาชนบ้าง แต่พี่ก็เงียบมาโดยตลอด แถมยังเอาเงินไปมอบให้ประยุทธ์ โอเคค่ะ จบๆ ไป วันนี้ชาวบ้านที่บริจาคให้พี่ห้าบาทสิบบาท กำลังรอความตายจากการไม่มีงานไม่มีเงินค่ะ เจ็บป่วยก็ไปโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะไม่มีเงินค่ะ ยิ่งเป็นโควิดยิ่งไม่มีเตียงไม่มีโรงบาลรับค่ะ ผลการวิ่งของพี่ พี่ได้หน้า ประชาชนรักพี่ เทิดทูนพี่เยอะขึ้นเลย พี่คงภูมิใจมากนะคะ สุดท้ายโควิดก็ทำให้เห็นว่า พี่รักตัวเองแค่ไหน only time will tell จริงๆ ค่ะ จากอดีตแฟนคลับ 17-18 ที่พยายามเข้านิติจุฬาฯ จนได้เป็นรุ่นน้อง อยากชี้แจง เชิญเลยค่ะ รอฟังเสมอ”

ถ้าพี่ยังเลือกถือสิ่งที่ถูกต้องเราอยากให้พี่ใช้เสียงของพี่ที่มีมากกว่าคนอื่นๆ หรือน้องๆ ในวงการ หรือแม้กระทั่งเทคนิเชียลตัวเล็กหลายๆ วงที่คอยประคับประคองวงการดนตรีของพี่ ช่วยออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะเป็นอีกเสียงหนึ่งนะครับ เสียงของพี่มันมีพลังมากมายเหลือเกิน แต่ถ้าพี่มองว่าพี่ไม่ได้กระทบหรือเดือดร้อนจากการหยุดงานมาเกือบ 2 ปี พี่พึงรู้ไว้เถิดว่า มีหลายๆ คนที่เป็นมดงานในวงการดนตรีกำลังจะตายลงไปทีละคนสองคนอย่างช้าๆ อยู่นะครับ”

อยากให้พี่ตูนออกมา call out กับเพื่อนร่วมวงการศิลปินท่านอื่นๆ จังค่ะ ตอนนี้อาชีพนักร้องเดือดร้อนกันมากๆ และ ต่อให้ พี่ตูน วิ่งรอบโลกก็ไม่สามารถแก้ไขความชิบหายของประเทศนี้ได้ค่ะ”

เห็นด้วยครับ ไม่ได้คาดคั้นแกนะ แต่เรื่องในวันนี้มันง่ายกว่าไปวิ่ง 2 พันโลเยอะมากเลย แต่ทำไมคนวงการเดียวกันแกถึงเงียบได้ขนาดนี้นะ

สำหรับ ตูน บอดี้สแลม ก่อนหน้านี้ ได้เริ่มโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ โดยครั้งแรกวิ่งจากกรุงเทพมหานคร-บางสะพาน ในปี 2559 จากนั้นในปี 2560 ได้มีการดำเนินโครงการอีกครั้ง ด้วยการเริ่มวิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา ไปจบ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศไปแล้วเมื่อปี 2560 ซึ่งยอดบริจาคทะลุเป้ากว่าหนึ่งพันล้านบาท

โดยการจัดสรรเงินที่ได้ในโครงการ ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังจากสิ้นสุดโครงการ มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้จัดสรรเงินที่ได้รับบริจาคจำนวน 1,300 ล้านบาท ไปในโรงพยาบาลต่างๆ ดังนี้
– โรงพยาบาลยะลา 91ล้านบาท – โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 136.5 ล้านบาท – โรงพยาบาลราชบุรี 180 ล้านบาท – โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชสุพรรณบุรี 91 ล้านบาท – โรงพยาบาลสระบุรี 104 ล้านบาท – โรงพยาบาลขอนแก่น 143 ล้านบาท – โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรปราจีนบุรี 91 ล้านบาท – โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ 91 ล้านบาท – โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 110.5 ล้านบาท – โรงพยาบาลน่าน 91ล้านบาท
– โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า 221 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน THE TRUTH ก็ได้โพสต์ประเด็น “อัยการฯโต้ทันควัน! หลัง “หมอบุญ” โวยได้วัคซีนช้าเพราะรัฐไม่เซ็นสัญญา?? ย้อนหมอบุญ คือ หนึ่งในผู้เจรจาซื้อที่ดินอัลไพน์”

โดยสาระสำคัญ ระบุว่า จากกรณีที่วันนี้ (2 กรกฎาคม 2564) นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเจรจากับทาง “โมเดอร์นา” ที่จะซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดส ยังไม่คืบหน้าหลังจองวัคซีน “โมเดอร์นา” ไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และพบว่า องค์การเภสัชกรรมหน่วยงานเดียวที่สามารถเซ็นเอกสารทำสัญญา โดยบริษัทผู้ผลิตฯระบุปัญหาเรื่องยังค้างอยู่ที่อัยการสูงสุด

“การสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของเอกชนไม่สามารถทำได้ ต้องดำเนินการโดยรัฐบาล ความคิดที่สั่งซื้อช่วงแรกเมื่อช่วงเดือนมกราคม จึงสะดุด กระทั่งช่วงเดือนเมษายนได้รับข้อมูลว่าเอกชนสามารถจองซื้อได้ แต่ต้องให้องค์การเภสัชฯเซ็นสัญญา แต่ที่เราจองวัคซีนโมเดอร์นาไว้จนมาวันนี้ กลับติดค้างที่การทำงานของหน่วยงานรัฐทั้งที่ผ่านมาแล้วตั้งหลายเดือน เหตุใดการพิจารณาของอัยการสูงสุดยังไม่สิ้นสุดเสียที

ล่าสุด ทางด้าน สำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงกรณีการตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีน โมเดอร์นา (Moderna) ตามที่มีบุคคลให้ข่าวทางสื่อมวลชนว่า สัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ยังไม่สามารถ ดำเนินการใดๆ ได้ เพราะองค์การเภสัชกรรมยังไม่ได้เซ็นสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) กับผู้ขาย เพราะการตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ยังคงค้างอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

ภาพ สำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาชี้แจง โต้ “หมอบุญ” ขอบคุณภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่า

1. ข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง เพราะไม่เคยมีหน่วยงานใดหรือองค์กรใดส่งร่างสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างแต่อย่างใด

2. ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดเคยได้รับการร้องขอจากองค์การเภสัชกรรม ให้ตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนชิโนแวค (Sinovac) ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาตรวจร่างสัญญาให้กับองค์การเภสัชกรรม แล้วเสร็จภายใน 1 วัน และสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับการร้องขอจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคให้ตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคชีนแอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) ซึ่งทั้งสองสัญญาสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างสัญญาให้กับสองหน่วยงานดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 5 วัน เท่านั้น

โดยการพิจารณาตรวจร่างสัญญาดังกล่าวข้างต้น สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตระหนักในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ที่สังคมไทยเรากำลังเผชิญอยู่และเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนในสังคมจะต้องร่วมมือร่วมใจ ในการฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวให้ล่วงพ้นไป สำนักงานอัยการสูงสุดจึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในสถานการณ์วิกฤตโควิด หมอบุญก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องการบริหารจัดการหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยล่าช้า หมอบุญ คือ หนึ่งในนักธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีบทบาทผ่านการขับเคลื่อนในนาม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อขอซื้อวัคซีนทั้งโมเดอร์นาและไฟเซอร์ และต่อมามีการให้สัมภาษณ์พาดพิงองค์การเภสัชกรรมทำนองว่า องค์การเภสัชฯ ชาร์จค่าบริหารจัดการอีก 5-10% จากกลุ่ม รพ.เอกชน จนเกิดดรามา จนธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ต้องร่อนหนังสือ แสดงความเสียใจ ต่อบทสัมภาษณ์ดังกล่าวที่ทำให้องค์การเภสัชกรรมเสียหาย

สำหรับ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ของนายแพทย์บุญ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีเครือข่ายด้านโรงพยาบาลและการแพทย์ ในระดับกลุ่มทุนรายใหญ่ของวงการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นกลุ่มหุ้นบิ๊กล็อต รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมอบุญเองก็ถือว่า เป็นหนึ่งในเศรษฐีหุ้นรายใหญ่ของประเทศไทยมาหลายสิบปี มีชื่อโด่งดังในวงการสาธารณสุขภาคเอกชนมานาน เพราะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

โดยในทางการเมือง เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่อร่วม 30 ปีที่แล้ว หมอบุญ มีความสนิทกับนักการเมืองรุ่นเก่า ในเวลานั้น หมอบุญ มีชื่อเป็นข่าวโด่งดัง จากการเข้าไปมีชื่อเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินธรณีสงฆ์ อัลไพน์ เพราะหมอบุญ ก็คือ ประธานบริหารบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท ที่มีทั้ง นายเสนาะ เทียนทอง นางอุไรวรรณ เทียนทอง นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ร่วมเป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์

ซึ่งหมอบุญ ก็เคยเปิดแถลงข่าวกับสื่อในเรื่องนี้โดยยอมรับเองว่า เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมเจรจาซื้อขายที่ดินอัลไพน์ จากวัดธรรมมิการามวรวิหาร จากนั้นนำที่ดินมาทำสนามกอล์ฟและหมู่บ้านอัลไพน์ และมีการตั้งบริษัททำธุรกิจในที่ดินดังกล่าว โดยตนเองก็มาตั้ง บริษัท ราชธานีบ้านและที่ดิน จำกัด เพื่อบริหารหมู่บ้านอัลไพน์ ส่วนสนามกอล์ฟอัลไพน์ ก็เป็นของนายเสนาะ ก่อนที่จะขายสนามกอล์ฟให้นายทักษิณ ชินวัตร จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เกิดคดีความมากมายมาถึงปัจจุบัน

แน่นอน, กรณี ตูน บอดี้สแลม เชื่อว่า หลายคนที่เป็นแฟนคลับ ตัวจริง คงเข้าใจดี และหลายคน ก็ไม่ต่างจาก “ตูน” ที่พยายามจะไม่ออกมาซ้ำเติมวิกฤตที่รัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกภาระอย่างหนัก ไม่อยากเป็นพวก “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” อย่างที่พวกม็อบ 3 นิ้ว และเครือข่ายพยายามเคลื่อนไหว โหนความเดือดร้อนกรณีจำกัดการให้บริการของร้านค้า สถานบันเทิง ไม่ให้มีคนไปนั่งกินดื่ม เพื่อป้องกันโควิด-19 และไม่จำเป็นที่ “ตูน” จะต้องทำอย่างที่เครือข่าย 3 นิ้วทำ เป็นสิทธิของเขาอยู่แล้ว

ที่สำคัญ กลุ่ม 3 นิ้ว ก็เรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่มิใช่หรือ? ในเมื่อ “ตูน” เห็นว่า ไม่ถูกไม่ควร และไม่ใช่สาวกใคร ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามมิใช่หรือ? เรื่องมันก็แค่นี้เอง ส่วนเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ จะช่วยคนบันเทิงที่เดือดร้อนอย่างไร ก็ยังสามารถทำได้ และไม่เป็นการซ้ำเติมปัญหาอีกด้วย

ส่วนกรณีอัยการฯ ออกมาโต้ “หมอบุญ” ก็อย่างที่มีการเปิดเผยพฤติกรรมของ “หมอบุญ” ว่า เป็นอย่างไร

นอกจากนี้ อัยการฯ ก็ชี้แจงอย่างชัดเจน ว่า ที่เป็นข่าวออกมานั้น มันไม่มีมูลความจริง และอัยการฯก็ได้ยืนยันแล้วว่า ไม่มีหน่วยงานหรือ องค์กรใด ส่งร่างสัญญาให้ตรวจเลย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะช้า ส่วนที่ “หมอบุญ” กล่าวอ้าง ก็ต้องให้สาธารณชนตัดสินเอง เพราะดูเหมือนข้อมูลเกี่ยวกับ “หมอบุญ” น่าจะมากพอให้ตัดสินอยู่แล้ว

เหนืออื่นใด ประเด็นของ “หมอบุญ” ยังไปเข้าทางฝ่ายที่จ้องโดดงับไปขยายผลเป็นประเด็นการเมืองอยู่แล้ว ทำให้น่าคิดว่า “หมอบุญ” ออกมาโวยเรื่องนี้เพื่ออะไร ถ้าไม่เป็นความจริง หรือว่า มีหน่วยงานใด นอกจากอัยการสูงสุดที่แช่แข็งร่างสัญญาของ “หมอบุญ” เอาไว้ ก็ต้องออกมาชี้แจงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เรื่องมันโปร่งใสเสียที

แต่ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร คนที่เชื่อ “หมอบุญ” และมีอคติกับรัฐบาลอยู่แล้ว ก็คงไม่มีทางเชื่ออัยการสูงสุด นี่คือ ความจริงที่น่าเศร้าสำหรับคนไทยอีกข้อหนึ่ง มันเป็นไปได้ขนาดนั้นแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น