มท.แจ้งเวียนผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ตรวจสอบควบคุมค่าเช่าที่นา ฤดูการผลิต ปี 64/65 ตามคำสั่งเดิม “คสช.” ที่สืบทอดมาตั้งแต่ปีการผลิต 2558 ที่สั่งลดราคาไร่ละ 200 บาท สำหรับการปลูกข้าว ให้กับชาวนาผู้ยากไร้ ย้ำหากเจอเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่ คชก.ตําบล กําหนด ให้แจ้งความดําเนินคดีทุกราย ระวางโทษหนักจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ (2 ก.ค. 2564) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เร่งดำเนินการควบคุมการเช่านาทุกรายในพื้นที่ ตามมาตรการควบคุมค่าเช่านา ฤดูกาลผลิตห้วงปี 2564/2565
ให้เป็นไปตามกำหนดคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก. ตำบล) ที่ให้ลดค่าเช่านาลงไม่น้อยกว่าไร่ละ 200 บาท และประกาศอัตราค่าเช่าขั้นสูงที่เหมาะสม และเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายให้ครบทุกตำบล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซาวนาในการลดต้นทุนการผลิต ในฤดูการผลิต ปี 2563/2564
โดยเฉพาะ หลังจากซักซ้อมแนวทาง เพื่อให้การควบคุมค่าเช่านาในฤดูการผลิต ปี 2564/2565 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความเป็นธรรมกับผู้เช่านาและผู้ให้เช่านา สามารถดำเนินการเช่านาในทุกพื้นที่ ที่มีการทำนาในอัตราที่คณะกรรมการการเข่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) กำหนดไว้
ทั้งนี้ ให้นายอำเภอและเกษตรอำเภอ เร่งทบทวนผลการดำเนินการควบคุมค่าเช่านาในฤดูการผลิตที่ผ่านมา หากพบว่า ในพื้นที่ยังมีการเรียกเก็บเกินอัตราที่ คชก. ตำบลกำหนด ขอให้จังหวัดควบคุมค่าเช่านาให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 รวมถึงทบทวนบัญชีรายชื่อผู้เช่า และผู้ให้เช่าให้เป็นปัจจุบัน และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยรับ
ในรอบปีที่ผ่านมา ฤดูการผลิต 2563/2564 หากพบว่ามีการเรียกเก็บค่าเช่านาเกินกว่าที่กำหนด ให้ คชก. ตำบล แจ้งความดำเนินคดีกับ “ผู้ให้เช่าทุกราย”
ทั้งนี้ ให้แจ้งให้ผู้เช่าและผู้ให้เช่า ทราบอัตราค่าเช่าขั้นสูงที่ คชก ตำบล กำหนดในฤดูการผลิต 2564/2565 และแจ้งกำหนดโทษหากมีการเรียกหรือรับค่าเช่านาเกินกว่าอัตราค่าเช่านาขั้นสูงที่กำหนด จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกำหนดช่องทางร้องเรียน ร้องทุกข์ และประชาสัมพันธ์ด้วย
ขณะเดียวกัน ให้ คชก.ตำบล และ ชุดปฏิบัติการประจำตำบล (ชปต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงแนวทางการควบคุมค่าเช่านาให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งจัดทำป้ายแสดงอัตราค่าเช่านาประจำตำบลแสดงในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างน้อย 1 ป้าย
อย่างไรก็ตาม กรณีท้องที่ใดเกิดเหตุแห่งภัยธรรมชาติ ส่งผลให้การทำนาไม่ได้สมบูรณ์ ให้พิจารณาช่วยเหลือ โดยใช้กลไก คชก.ตำบล ตรวจสอบพื้นที่ ว่ามีพื้นที่การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติหรือไม่
หากมี ให้ คชก.ตำบล ประกาศกำหนดให้ท้องที่นั้น เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและกำหนดค่าเช่า “ให้ลดลงตามส่วนแห่งความเสียหาย หรืองดค่าเช่านาให้แก่ผู้เช่านา ในปีนั้นก็ได้”
ขณะเดียวกัน ให้รายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทย ทราบภายในวันที่ 24 ของทุกเดือน โดยให้รายงานครั้งแรกภายในวันที่ 24 ก.ค.นี้
สำหรับแนวทางการดำเนินการควบคุมค่าเช่านาดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2558 ได้รับทราบผลสรุปการดำเนินการลดค่าเช่านา ปีการผลิต 2557/2558 และแนวทางการดำเนินการควบคุมค่าเช่านา ปีการผลิต 2558/2559 ของกระทรวงมหาดไทย ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายลดค่าเช่าน่าลงไม่ต่ำกว่าไร่ละ 200 บาท ดังกล่าว
ในคราวนั้น กระทรวงมหาดไทย สรุปการดำเนินการ ดังนี้ “ผู้เช่านา” มีจำนวน 380,965 ราย “ผู้ให้เช่านา” มีจำนวน 411,517 ราย
สำหรับอัตราค่าเช่านาก่อนการดำเนินการลดค่าเช่าเช่าตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีดังนี้ ภาคกลาง อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000-2,000 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000-1,200 บาท ภาคเหนือ อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000-1,800 บาท และละ ภาคใต้ อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000 บาท
ขณะที่ คชก.ตำบล ประกาศลดค่าเช่านา สรุปผลรายภาค ดังนี้ ภาคกลาง ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ 1,000-1,500 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ 800-1,200 บาท ภาคเหนือ ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ 800-1,200 บาท ภาคใต้ ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ 800 บาท
นโยบายดังกล่าว คสช. ได้รับการร้องเรียนในคราวนั้น ว่า ชาวนาถูกเอาเปรียบจากนายทุนเป็นอย่างมาก ค่าเช่านาปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 500-1,000 บาท ต่อไร่ต่อปี มาเป็น 1,000-2,000 บาทต่อไร่ต่อการทำนา 1 รอบ
“ทำให้ชาวนา พอใจค่าเช่าไม่เกิน 1,000 บาท ต่อไร่ต่อ 1 รอบ ซึ่งเดิมที่ค่าเช่าพื้นที่คิดเป็นปี แต่ปรับขึ้นในช่วงโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ทำให้เจ้าของที่ดินฉวยโอกาสเพิ่มค่าเช่าด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ราวๆ 1,000-2,000 บาท ต่อไร่ต่อการทำนา 1 รอบ”
นโยบายดังกล่าว ดำเนินการมาตลอด ฤดูการผลิตห้วงปี 2558/2559, 2560/2561, 2562/2563, 2563/2564 และล่าสุด 2564/2565
กระทรวงมหาดไทย ระบุในครั้งนั้นด้วยว่าผลจากการดำเนินการ มีประเด็นสำคัญดังนี้ สามารถเจรจาลดเพื่อลดค่าเช่านาลงได้ทุกราย จำนวน 380,965 ราย สามารถลดค่าเช่านาลงได้ เฉลี่ยไร่ละ 200-816 บาท เกษตรได้รับการลดค่าเช่านาลงเฉลี่ยรายละ 631-22,238 บาท และจำนวนเงินที่สามารถเจรจาลดค่าเช่านาได้ 342,139,308 บาท