โฆษก ศบค. เผย เปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” พรุ่งนี้ ประเดิม 4 เที่ยวบิน นักท่องเที่ยว 249 ราย จาก “อิสราเอล-อาบูดาบี-กาตาร์” วอนขอฮึดสู้หลังเหนื่อยล้ากับการต่อสู้โรคร้ายมายาวนาน ยังไม่เคลียร์เรื่องใบอนุญาตเข้า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (30 มิ.ย.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า การออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 26) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีการนำเสนอชุดข้อมูลว่าในข้อกำหนดที่ออกมาหลักใหญ่ใจความ คือ การเพิ่มการกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม ซึ่งผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงให้มีมาตรการป้องกันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเพื่อเตรียมการให้ผู้ดำเนินการเตรียมการได้อย่างถูกต้องในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยจะมีเที่ยวบินเข้ามา 4 เที่ยวบินที่เกิดจากการประสานงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตัวเลขประมาณ 249 คน มาจากหลายประเทศเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งจาก อิสราเอล อาบูดาบี และกาตาร์ เป็นต้น
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า โดยข้อกำหนดดังกล่าวที่ออกมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะมีทั้งมาตรการก่อนที่จะเดินทางเข้ามา และมาตรการเข้ามาถึงประเทศไทย จะบินตรงถึงจังหวัดภูเก็ต โดยจะไม่มีการไปปะปนกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ยืนยันว่า เรามีมาตรฐานขอให้มั่นใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เมื่อถามว่า มีประชาชนสอบถามมาว่า ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ จะเดินทางไปยังพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 4 จังหวัดภาคใต้จำเป็นต้องมีเอกสารขออนุญาตในการเดินทางหรือไม่ เพราะมีประชาชนไปขอเอกสารที่สำนักงานเขต แต่ได้รับการปฏิเสธ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตนได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ศบค. ขอยืนยันว่า ในข้อกำหนดฉบับที่ 25 เจตนาของการออกข้อกำหนด เพื่อให้เฉพาะคนที่จะออกจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีเอกสารที่จะออกไป โดยจะต้องขออนุญาตจากทางการ แต่คนที่จะเข้าไปคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องออกมาตรการ และตนยังไม่แน่ใจถามว่าจำเป็นหรือไม่ ไม่จำเป็น โดยอาจจะต้องสื่อสารและตรวจสอบให้ดีกับทางจังหวัดแต่จังหวัดสามารถมีข้อปฏิบัติ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้มงวดกว่าที่อื่นได้ เช่น ถ้ามาจากกรุงเทพฯในพื้นที่สีแดงเข้มก็ต้องกักตัว 14 วัน เหมือนกับที่เดินทางไปในภาคอีสาน หรือพื้นที่อื่นๆ ก็ต้องถูกกักตัว เพื่อดูอาการ ฉะนั้น การขอดูใบอนุญาตจะต้องดูว่าเกิดขึ้นที่จังหวัดใด ซึ่งอาจจะต้องทำความเข้าใจกับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะการขอใบอนุญาตอาจเกิดความยุ่งยากกับผู้เดินทางซึ่งสำนักงานเขตอาจจะบอกว่าไม่ใช่ธุระที่จะมาออกใบอนุญาต และการไปกักตัวในจังหวัดนั้นอาจจะง่ายกว่า
“การติดเชื้อที่ยาวนานมาเป็นปีที่สำคัญ อย่าว่าแต่การติดเชื้อที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง แต่ที่สำคัญจะมีความเหนื่อยล้าทางด้านอารมณ์และจิตใจ สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ความเหนื่อยล้าอ่อนล้าหรือหมดไฟ มันทำให้เราไม่สามารถที่จะรวมพลังกันได้ ผมต้องขอความร่วมมือกับประชาชนทุกท่าน ในความยากลำบากนี้คำว่า อึดฮึด สู้ ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตนำมาใช้ในช่วงที่เราเจอกับวิกฤตภัยพิบัติต่างๆ หลายครั้ง ต้องนำมาคิดและนำมาใช้อีกครั้ง เพราะหลายครั้งที่เราหมดพลัง แต่เรามาเห็นหลายคนที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง จึงมีความสำคัญที่จะเผื่อแผ่ไปยังคนอื่นในช่วงนี้มากๆ เพื่อเราจะได้ก้าวผ่านความทุกข์ยากและยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว