xs
xsm
sm
md
lg

“องค์กรครู” โวย รมว.ศึกษาฯ หยุดเข็น พ.ร.บ.การศึกษาเข้าสภาฯ หลังครูกว่า 8 แสนคน คัดค้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“องค์กรครู” โวย รมว.ศึกษาฯ หยุดเข็น พ.ร.บ.การศึกษาเข้าสภาฯ หลังครูกว่า 8 แสนคน คัดค้าน ด้าน “หมอระวี” เตือน หากยังดื้อระวังกระทบคะแนนเสียง พปชร.

วันนี้ (30 มิ.ย.) นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ รับยื่นหนังสือจากกลุ่มเครือข่ายยองค์กรครู เพื่อขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ออกจากการพิจารณาของ ครม.ก่อนที่จะนำให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยนายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ได้ร่วมเครือข่ายกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เกิดความรู้สึกไม่สบายใจและไม่ไว้วางใจ เนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในทางที่ ลดทอนคุณค่าของครูลงจากเดิม ในหลัก 3 ประการ กล่าวคือ
1) ไม่มีการบัญญัติว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง”
2) ไม่มีการบัญญัติว่า “ครูฯ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” และ
3) ไม่มีการบัญญัติคำว่า “ผู้บริหารสถานศึกษา” แต่บัญญัติคำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา”

นายไกรทอง กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายเช่นนี้เอง จึงก่อให้เกิดความไม่สบายใจและไม่ไว้วางใจ โดยครูผู้เป็นบุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 38-44 หมวด 3 ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง วิทยฐานะ และการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งการกำหนดตำแหน่งฯ
นี้เอง ถือได้ว่า เป็นจุดแข็งเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาคุณภาพครู สามารถที่จะทำให้ผู้ที่รักและมีจิตวิญญาณของความเป็นครูได้เกิดความมั่นคงและเกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพอันเป็นความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนดีและคนเก่งมาเรียนในสาขาวิชาชีพครู ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการหล่อหลอมจากสถาบันผลิตครู และเมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงจะเป็นบุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักตามมาตรา 4 ดังกล่าวได้ การไปลดทอนคุณค่าของครูลงจากเดิม เช่นนี้ อาจกระทบต่อมาตรฐานวิชาชีพครู ส่งผลให้สังคมเกิดความไม่มั่นใจต่อจิตวิญญาณของความเป็นครู จรรยาบรรณ ความรักความเอาใจใส่ การเสียสละทุ่มเท และคุณภาพของครู โดยอาจกระทบต่อเนื่องไปยังคุณภาพของผู้เรียน ในทางตรงกันข้าม หากจะคาดหวังคุณภาพของผู้เรียนที่ดีขึ้น จึงควรที่จะพัฒนาวิชาชีพครูจากรากฐานเดิมที่เป็นอยู่

“ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังมีเจตนารมณ์ไม่ให้มีข้าราชการครูอีกต่อไปโดยครูที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่หลังจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่จะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐเหมือนพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น”

ด้าน นพ.ระวี กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรีทบทวนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยนำไปปรับปรุงใหม่ก่อน ส่งเข้าสภาฯ เพราะขณะนี้มีครูอาจารย์มากกว่า 800,000 คน เข้าร่วมการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้

เมื่อมีการคัดค้านอย่างกว้างขวางและมากมายเช่นนี้ ตนจึงขอเสนอทางรัฐบาลชะลอการส่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ โดยไม่ต้องส่งเข้าสภาฯก่อน โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรเชิญตัวแทนองค์กรครูที่คัดค้าน พร้อมบุคคลที่เกี่ยวข้องได้มาพูดคุยกันอย่างเต็มที่ เพื่อหาทางออกร่วมกัน และต้องมีการเปิดการประชาพิจารณ์ใหม่ โดยเชิญตัวแทนครู-บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ได้มาพูดคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ เมื่อมีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ให้ดีที่สุดแล้ว ท่านรัฐมนตรีค่อยนำไปเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีใหม่ ก่อนส่งเข้าพิจารณาในสภาฯต่อไป

“ผมขอเตือนรัฐบาลอย่าฝืนกระแสการคัดค้านของครูจำนวนหลายแสนคนทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้น จะส่งผลต่อผลการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างแน่นอน” นพ.ระวี กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น