xs
xsm
sm
md
lg

“บางกลอย” วันนี้ กับ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีที่ดินทำกิน เศรษฐกิจดี มีสวัสดิการพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (28 มิ.ย.) ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยความคืบหน้าในการแก้ปัญหาชาวบ้านบางกลอย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า นับตั้งแต่ชาวบ้านบางกลอย (บน) จำนวน 57 ราย ได้อพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยจากบริเวณใจแผ่นดิน ใกล้แนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ลงมาอยู่อาศัยที่บริเวณบ้านโป่งลึก-บางกลอย (ล่าง) เมื่อปี 2539 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี ได้มีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดทำแปลงสาธิต การปรับปรุงดิน การจัดหาแหล่งน้ำและระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนด้านสาธารณูปโภค ด้านสุขอนามัย การส่งเสริมการศึกษานอกระบบ รวมทั้งการจ้างงาน เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยมีคุณภาพชีวิต มีสุขอนามัย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันผืนป่าบริเวณใจแผ่นดิน และบริเวณบางกลอย (บน) ได้ฟื้นคืนสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติดังเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พบร่องรอยหลักฐานชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากจำนวนมาก

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้บูรณาการเข้าช่วยเหลือชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยมีการจ้างงาน เช่น อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ได้มีการจ้างงาน 57 คน แยกเป็นพนักงานราชการ 8 คน ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน 1 คน บุคคลภายนอกฯ 4 คน และพนักงานจ้างเหมา 12 คน สถานีควบคุมไฟป่าแก่งกระจาน (ตอนบน) จ้างงานจำนวน 5 คน ๆ ละ 9,000 บาท ปฏิบัติงาน 7 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2564 - 30 ก.ย. 2564 เป็นต้น รวมถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตหลายๆ โครงการได้เข้าไปในพื้นที่เพื่อพัฒนาและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านบางกลอย เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านโป่งลึก - บางกลอย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดทำแปลงสาธิต 8 แปลง เนื้อที่ 80 ไร่ พร้อมทั้งจัดตั้งเครื่องสูบน้ำ ที่ตั้งถังน้ำ และแนวท่อน้ำเพื่อทำระบบน้ำสนับสนุนแปลงสาธิตจากแม่น้ำเพชรบุรีถึงแปลงสาธิต โครงการหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม มอบเงินสนับสนุนกลุ่มปลูกผักปลอดภัย จำนวน 50,000 บาท มีสมาชิกจำนวน 23 คน

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้บูรณาการความร่วมมือดำเนินการโครงการพัฒนาระบบน้ำเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ป้องกันไฟป่า และพัฒนาพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ด้วยการจัดทำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 15 กิโลวัตต์ และจุดจ่ายน้ำถาวร จำนวน 3 แห่ง พื้นที่ดำเนินการบ้านโป่งลึก - บ้านบางกลอย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาลสำหรับอุปโภค-บริโภคในโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเริ่มใช้งานตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ที่ผ่านมา และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ดำเนินโครงการบ้านโป่งลึก หมู่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 7.5 KW

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยที่อพยพลงมาอยู่ในบริเวณใกล้กับบ้านโป่งลึกที่มีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย และมีการจัดทำโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามสารบบของกรมการปกครอง ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ที่สำคัญ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวปกาเกอะญอโป่งลึก - บางกลอยเพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่แก่งกระจานสู่การเป็นมรดกโลก ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก อาทิ การนำองค์ความรู้เชิงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมปรับปรุงที่พักอาศัยรูปแบบดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอเพื่อรองรับการจัดกิจกรรการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ชาวปกาเกอะญอ การพัฒนาระบบน้ำสำหรับการเกษตรกสิกรรมผสมผสานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การนำเที่ยวทางวัฒนธรรมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน การรักษาและถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาต่อยอดทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและการส่งเสริมสุขภาวะชาวปกาเกอะญอตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการนี้จะนำไปสู่การลดการพึ่งพิงทระพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและทรัพยากรทางธรรมชาติภาย ในพื้นที่อุทยานฯ และนำไปสู่การลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการปฎิบัติงานเพื่อพิทักษ์ทรัพยา กรธรรมชาติของเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนได้ในท้ายที่สุด และผลลัพธ์จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการสนับสนุนการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก














กำลังโหลดความคิดเห็น