รมช.ธรรมนัส ลงพื้นที่ฉะเชิงเทรา เดินหน้ามอบหนังสืออนุญาต ส.ป.ก.4-01 พร้อมตรวจความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการปลูกพืชสมุนไพรในเขตปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออก
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมมอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) และสัญญาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการปฏิรูปที่ดิน สาขาจังหวัดฉะเชิงเทรา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น มีพื้นที่ประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน 10 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.บางคล้า อ.บ้านโพธิ์ อ.คลองเขื่อน อ.ราชสาส์น อ.พนมสารคาม อ.แปลงยาว อ.สนามชัยเขต และอ.ท่าตะเกียบ มีเนื้อที่ประมาณ 873,281 ไร่ ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์จำนวน 38,786 ราย 48,917 แปลง เนื้อที่ประมาณ 695,727 ไร่ คงเหลือ 170,916 ไร่ และนอกเหนือจากการจัดสรรที่ดินแล้วนั้น ทาง ส.ป.ก. ยังมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอื่นๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสนับเงินทุนกองทุนปฏิรูปที่ดิน เพื่อสร้างรายได้และอาชีพ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ในวันนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มามอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้แก่พี่น้องเกษตรกร จำนวน 10 ราย และมอบสัญญาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ส.ป.ก.จัดซื้อ จำนวน 10 ราย ทั้งยังเยี่ยมชมนิทรรศการพืชสมุนไพร และการปลูกไผ่แปลงใหญ่ตามมาตรฐาน GAP รับฟังรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการปลูกพืชสมุนไพรการขยายพันธ์พืช พัฒนาการผลิตและตลาดพืชสมุนไพรในเขตปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทราด้วย เพื่อเป็นทางเลือกในการทำเกษตร ที่จะสามารถมห้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ เชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ มีศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า “ฉะเชิงเทราเชื่อม EEC สู่เมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี” ภายใต้การพัฒนาแบบจำแนกเชิงพื้นที่ “อุตสาหกรรมสีเขียว ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย สังคมมีคุณภาพ ป่าและน้ำอุดมสมบูรณ์” ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการแข่งขันด้านการผลิต การแปรรูป และการส่งออกของภาคการเกษตร