xs
xsm
sm
md
lg

นศ.นิติ รามฯ รวมตัวหน้ากรมป่าไม้ ต้าน จนท.ไถเงินผู้ประกอบการแลกใบอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง นัดรวมพลหน้ากรมป่าไม้ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภาคอีสาน รีดไถเงินผู้ประกอบการโรงไม้-โรงเลื่อย แลกใบอนุญาตค้าไม้

วันนี้ (24 มิ.ย.) ตัวแทนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวนกว่า 20 คน นำโดย นายเอกขรินทร์ บุญทอง และ นายดนัย มีกรูด แกนนำกลุ่ม นัดรวมพลหน้ากรมป่าไม้ ถนนพหลโยธิน เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ หลังมีการเรียกเก็บค่าใบต่ออนุญาตค้าไม้กับโรงไม้และโรงเลื่อยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและหนองคายอย่างไม่เป็นธรรม

นายเอกขรินทร์ บุญทอง แกนนำกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า การรวมตัวกันของนักศึกษาในครั้งนี้ เกิดจากการได้รับข้อมูลร้องเรียนจากผู้ประกอบการโรงไม้ โรงเลื่อยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและหนองคาย ว่า มีเจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) และศูนย์ป่าไม้หนองคาย ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรมและเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการ เช่น ไม่ยอมต่ออายุใบอนุญาตตั้งโรงงานไม้แปรรูปและโรงค้าไม้แปรรูปฯ ปล่อยให้เกิดช่องว่างในการรีดไถกับผู้ประกอบการ และในการต่อใบอนุญาตแต่ละครั้งจะเรียกเก็บค่าดำเนินการเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากผู้ประกอบการรายใดไม่ทำตามเจ้าหน้าที่รัฐก็จะมีการยึดไม้ของกลาง เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงไม้ โรงเลื่อยไม้ทั้งรายเล็กและรายใหญ่กว่า 20 ราย ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงนี้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจค้าไม้ได้เนื่องจากไม่มีใบอนุญาต ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ประกอบการเองและลูกจ้างอีกจำนวนมาก จึงอยากเรียกร้องให้ นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ เร่งตรวจสอบเรื่องนี้โดยด่วน และหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทางคณะนักศึกษาได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องดังกล่าวแล้วที่รัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ โดยเบื้องต้นทราบว่ามีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่แล้ว

“เราอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้านและผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงออกมาเรียกร้องและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการในพื้นที่หนองคายและอุดรธานีเดือดร้อนกันมาก จะขายไม้ก็ไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีใบอนุญาต จะไปทำอาชีพอื่นก็ลำบากในสถานการณ์เช่นนี้ ที่สำคัญอยากให้มีการพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย” นายเอกขรินทร์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น