xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลส่วนใหญ่ไม่เห็นคนเหมาะนั่งนายกฯ-ไม่หนุนพรรคใด รองมาเชียร์ “บิ๊กตู่-พท.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นิด้าโพลสำรวจความนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ส่วนใหญ่มองหาคนเหมาะเป็นนายกฯ ไม่ได้ รองมาหนุน "บิ๊กตู่" ตามด้วย "เจ๊หน่อย-เสรีพิศุทธ์-พิธา" ส่วนมากไม่หนุนพรรคใด ตามด้วย พท. ก้าวไกล พปชร.

วันนี้ (20 มิ.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2564” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11/16 มิถุนายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,515 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.65 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 19.32 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนจริงจังกับการทำงาน ทำงานตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ สุจริต แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนทุกเพศทุกวัยได้อย่างทั่วถึง อยากให้ทำงานอย่างต่อไปจนครบวาระในการดำรงตำแหน่ง และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 3 ร้อยละ 13.64 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะอยากให้ผู้หญิงขึ้นมาบริหารประเทศบ้าง มีประสบการณ์การทำงาน บริหารงานที่ผ่านมาได้ดี มีผลงานที่โดดเด่น เป็นคนตรงไปตรงมา และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 4 ร้อยละ 8.71 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริง ทำจริง มีความซื่อสัตย์ มีประสบการณ์ในการทำงานมาก และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 5 ร้อยละ 5.45 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะอยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ  มองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ที่ดี ชื่นชอบนโยบายพรรค และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 6 ร้อยละ 3.62 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) เพราะเป็นคนไฟแรง มีวิสัยทัศน์ที่ดี มีความซื่อสัตย์ มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ และชื่นชอบในการทำงานและนโยบายของพรรค อันดับ 7 ร้อยละ 2.35 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะมีผลงานในการทำงานที่ดี โดดเด่น เป็นคนตรงไปตรงมา ชื่นชอบในการทำงาน และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 8 ร้อยละ 2.15 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 9 ร้อยละ 2.11 ระบุว่าเป็น นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคเศรษฐกิจใหม่) เพราะมีทัศนคติที่ดี มีมุมมองด้านเศรษฐกิจที่ดี น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี และชื่นชอบนโยบายพรรค อันดับ 10 ร้อยละ 1.47 ระบุว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีประสบการณ์ในการทำงานมาก ชื่นชอบแนวคิดการทำงาน และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และร้อยละ 3.53 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (พรรคเพื่อไทย) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชวน หลีกภัย นายเนวิน ชิดชอบ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายวิษณุ เครืองาม ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายอานันท์ ปันยารชุน

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/64 เดือนมีนาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายกรณ์ จาติกวณิช นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32.68 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 2 ร้อยละ 19.48 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 14.51 ระบุว่า พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 10.70 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 5 ร้อยละ 9.54 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่า พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 7 ร้อยละ 2.47 ระบุว่า พรรคไทยสร้างไทย อันดับ 8  ร้อยละ 2.43 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย อันดับ 9 ร้อยละ 1.71 ระบุว่า พรรคกล้า และร้อยละ 3.58 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยภักดี พรรคเพื่อชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคภราดรภาพ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/64 เดือนมีนาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคภูมิใจไทย มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคกล้า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.75 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.08 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.25 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.07 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.93 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 6.84 มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 16.26 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 21.43 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 31.06 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.41 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.27 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.82 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่นๆ และร้อยละ 1.07 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.42 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.72 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.59 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 29.34 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.33 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.80 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.57 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.25 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.71 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 10.22 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.80 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.68 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.44 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.14 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 21.87 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.06 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.79 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 20.83 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.43 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.66 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.81 ไม่ระบุรายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น