xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหนังสือ 3 ฉบับ สตง.เคยแจ้ง “มท.-สถ.” จี้ข้อบกพร่อง “เสาไฟประติมากรรม” หลายจังหวัด ย้ำ! เรียกคืน อบต.ราชาเทวะ 67 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดหนังสือ 3 ฉบับ สตง. เคยแจ้ง “มหาดไทย-สถ.” จี้ ท้องถิ่นถึงข้อบกพร่อง “เสาไฟฟ้าพ่วงประติมากรรม” ในหลายจังหวัด ไม่เฉพาะ “เสาไฟกินนรี” อบต.ราชาเทวะ แต่เคยมีการตรวจสอบโครงการในลักษณะเดียวกัน ในปี 2561 เรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง 67.29 ล้านบาท พบ สตง.เคยยกเคส ฟัน “เสาไฟหัวสิงห์” อบต.แห่งหนึ่ง ใน จ.สิงห์บุรี เมื่อปี 2555 มาแล้ว

วันนี้ (17 มิ.ย. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรณีโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมรูปประติมากรรม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายพื้นที่ขณะนี้ เมื่อ 15 พ.ย. 2560 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยมีหนังสือลงนามโดย นายพรชัย จำรูญพานิชย์กุล รองผู้ว่าการ สตง.รักษาการแทนผู้ว่า สตง. ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ขณะนั้น

มีใจความว่า สตง.ได้ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมประติมากรรม พบว่า มีประเด็นข้อสังเกตหลายประการ เช่น ไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยเลือกรูปแบบเสาไฟฟ้าประติมากรรมที่มีราคาสูง และติดตั้งในจุดที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเกิน ความจำเป็น การติดตั้งเสาไฟฟ้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และเสาไฟฟ้าประติมากรรมเกิคการชำรุด เสียหายไม่สามารถใข้งานได้

โดยมีสำเนาหนังสือส่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และปลัด สถ. ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. เรื่องราคาที่สูงมาก รูปแบบความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะติดตั้งกับภูมิทัศน์ของท้องถิ่น 2. การติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมไม่เป็นไปตามมาตราฐานไฟฟ้าสาธารณะที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด เช่น การติดตั้งมีความถี่มากกว่าที่กำหนด 3. การชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ ขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 สถ. ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้แจ้งกำชับให้ อปท.ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. หากจะดำเนินโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานโครงการ

สำหรับ กรณีการตรวจสอบในส่วนของ อบต.ราชเทวะ ในปี 2560 สตง. ได้ออกหนังสือแจ้งให้ อบต.ราชาเทวะ ดำเนินการให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จำนวน 67.29 ล้านบาท ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น ผลการตรวจสอบพบว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่/จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จึงได้มีการแจ้งผลการตรวจสอบและส่งเรื่องพร้อมเอกสาร หลักฐานประกอบ ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561

สำหรับการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง ตั้งแต่ปี 2562-2564 ของ อบต.ราชาเทวะ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวทางสื่อออนไลน์และสื่อมวลชนกระแสหลักอยู่ในปัจจุบัน สตง.มีแผนงานในการเข้าตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการบูรณาการและประสานงานความร่วมมือกันกับหน่วยงานตรวจสอบแห่งอื่นอีกด้วย ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป

จากผลการตรวจสอบและประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงมีนโยบายในการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เป็นลักษณะไฟไหม้ฟาง และเกิดปัญหาเช่นนี้อีกในอนาคต และให้มีมาตรการเชิงระบบในการป้องกันกำกับดูแล เรื่องการใช้จ่ายเงินในโครงการฯ ลักษณะนี้ให้เกิดความคุ้มคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

โดยให้ สตง. ดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเร่งด่วน เพื่อเสนอแนะแนวทาง หรือมาตรการในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน รวมไปถึงการเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันพิจารณากำหนดแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการที่ชัดเจนต่อไป

สตง. ยังเคยมีหนังสือที่ส่งถึงปลัดกระทรวมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 ยกตัวอย่าง การตรวจสอบโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะประติมากรรมรูปสิงห์พร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า อบต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ที่ได้รับงบประมาณ “ไทยเข้มแข็ง” จำนวน 722,595 บาท ติดตั้งจำนวน 13 ต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น