สตง. เผยความคืบหน้าการติดตามผลการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง อปท.ทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าขยายผลการตรวจสอบโดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมรูปประติมากรรม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ว่า เกี่ยวกับภารกิจตรวจสอบการใช้จ่ายงบเงินประมาณภาครัฐในการจัดทำโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมรูปประติมากรรมของ อปท.หลายแห่งที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนอยู่ในขณะนี้นั้น ในข้อเท็จจริง สตง.เริ่มตรวจสอบและพบข้อสังเกต รวมถึงปัญหาการดำเนินงานโครงการลักษณะนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2555 ในการดำเนินงานโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะประติมากรรมรูปสิงห์ พร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดสิงห์บุรี ที่ใช้งบประมาณกว่า 722,595 บาท จัดทำเสาไฟฟ้ารูปสิงห์ จำนวน 13 ต้น เฉลี่ยต้นละประมาณ 5.5 หมื่นบาทต่อต้น ซึ่งสูงกว่าเสาไฟฟ้าทั่วไปประมาณต้นละ 1.5 หมื่นบาท นอกจากนั้น ยังพบว่าใช้งานได้เพียงบางส่วนเท่านั้น จึงได้แจ้ง อบต.ให้มีการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงทำหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทยว่า โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกำลังได้รับความสนใจจาก อปท.หลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้น กระทรวงมหาดไทยควรจะต้องกำชับท้องถิ่นให้กำกับดูแลเรื่องการใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าและสามารถสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง
นายประจักษ์ บุญยัง กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น สตง. ได้กำหนดแผนงานในการเข้าไปติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะประติมากรรมของ อปท.ทั่วประเทศว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่มีการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับ อบต.ดังกล่าว ทั้งในเรื่องของราคา และการติดตั้งเป็นไปตามมาตราฐานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ โดยพิจารณาตามมาตราฐานไฟฟ้าสาธารณะ ปี 2548 ซึ่งออกโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเป็นสำคัญ ซึ่งกำหนดมาตรฐานสำคัญไว้หลายส่วนด้วยกัน เช่น มาตรฐานความส่องสว่าง ระยะห่างของจุดติดตั้งฟ้าสาธารณะ รูปแบบของการติดตั้ง กรณีติดตั้งสองฝั่งถนน ติดตั้งกลางถนน เป็นต้น แต่มาตรฐานนี้ยังไม่มีเรื่องประติมากรรมบนเสาไฟฟ้าแต่อย่างใด
ต่อมา ในปี 2560 สตง.ได้ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมประติมากรรมรูปกินรี ในส่วนของ อบต.ราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และพบว่ามีประเด็นข้อสังเกตหลายประการ เช่น ราคาเสาไฟฟ้าที่จัดซื้อมีราคาสูง การกำหนดราคากลางไม่ถูกต้อง การติดตั้งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาเรื่องการชำรุด ขาดการดูแลบำรุงรักษา ประกอบกับผลการตรวจสอบในพื้นที่อื่นๆ มีลักษณะเช่นเดียวกัน สตง.จึงวิเคราะห์ในภาพรวม และได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำเนาหนังสือส่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เรื่องราคาที่สูงมาก รูปแบบความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะติดตั้งกับภูมิทัศน์ของท้องถิ่น 2.การติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมไม่เป็นไปตามมาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด เช่น การติดตั้งมีความถี่มากกว่าที่กำหนด 3.การชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ ขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้แจ้งกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. หากจะดำเนินโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานโครงการ
กรณีการตรวจสอบในส่วนของ อบต.ราชเทวะในปี 2560 สตง. ได้ออกหนังสือแจ้งให้ อบต.ราชาเทวะ ดำเนินการให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จำนวน 67.29 ล้านบาท ดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นผลการตรวจสอบพบว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จึงได้มีการแจ้งผลการตรวจสอบและส่งเรื่อง พร้อมเอกสาร หลักฐานประกอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561
สำหรับการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง ตั้งแต่ปี 2562-2564 ของ อบต.ราชาเทวะ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวทางสื่อออนไลน์และสื่อมวลชนกระแสหลักอยู่ในปัจจุบัน สตง.มีแผนงานในการเข้าตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการบูรณาการและประสานงานความร่วมมือกันกับหน่วยงานตรวจสอบแห่งอื่นอีกด้วย ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป
จากผลการตรวจสอบและประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงมีนโยบายในการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เป็นลักษณะไฟไหม้ฟางและเกิดปัญหาเช่นนี้อีกในอนาคต และให้มีมาตรการเชิงระบบในการป้องกันกำกับดูแล เรื่องการใช้จ่ายเงินในโครงการลักษณะนี้ให้เกิดความคุ้มคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยให้ สตง. ดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเร่งด่วน เพื่อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน รวมไปถึงการเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันพิจารณากำหนดแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการที่ชัดเจนต่อไป
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร โทร.0-2618-5755